แนะ ครัวฉุกเฉินน้ำท่วม คุมเข้ม สะอาด ปรุงสุก
ที่มา: กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปรุงประกอบอาหารในครัวฉุกเฉิน คุมเข้มความสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ โดยการจัดการด้านสุขาภิบาลอาหารอย่างถูกต้อง เน้นปรุงสุก ด้วยความร้อน เพื่อป้องกัน การปนเปื้อนของโรค
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การปรุงประกอบอาหารในจุดที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย การปรุงอาหารต้องถูก หลักสุขาภิบาลอาหารและได้คุณค่าทางโภชนาการ อาหารสดต้องไม่มีกลิ่นเหม็นหรือสีผิดปกติ อาหารแห้งต้องไม่มีเชื้อรา ส่วนอาหาร ต้องอยู่ในสภาพดี กระป๋องไม่บุบ บวม และไม่หมดอายุ พื้นที่หรือสถานที่จัดตั้งครัวต้องไม่ใกล้ห้องส้วม หรือที่รวบรวมขยะ ที่ระบายน้ำเสียหรือที่เก็บสารเคมี โดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารกับพื้น ควรเตรียมปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้น ประมาณ 60 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรก บริเวณที่ปรุงอาหารจะต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารที่ไม่รั่วซึม มีฝาปิด ควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันแมลงวัน หนู แมลงสาป และทำให้ง่ายต่อการนำไปกำจัดด้วย
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ก่อนปรุงอาหารควรมีการล้างวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงทุกครั้ง โดยเฉพาะ ผักซึ่งอาจมีการปนเปื้อนคราบดินที่เกิดจากน้ำท่วมต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ส่วนผักบางอย่าง เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลายๆ ครั้ง ก่อนจะนำไปปรุงประกอบอาหาร ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง ถ้ามือมีแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหาร
"ทั้งนี้ ภายหลังจากปรุงอาหารเสร็จแล้วควรบรรจุในภาชนะที่สะอาด ง่ายต่อการขนส่ง และควรแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยให้หมดภายใน 2-4 ชั่วโมง และภาชนะบรรจุควรเขียนคำเตือนและระบุวัน เวลา ที่ปรุงไว้ด้วย เพื่อเป็นการเตือนผู้ประสบภัยไม่ให้นำอาหารที่เก็บไว้นานมาบริโภค อาหารที่ปรุงแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยควรเป็นอาหารแห้งๆ ประเภททอดหรือผัดที่ไม่บูดเสียง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิ นม เป็นส่วนประกอบ หรืออาหารประเภท ลาบ ยำ พล่าต่างๆ ส่วนน้ำดื่มควรเป็นน้ำบรรจุขวดซึ่งจะสามารถแจกจ่ายได้สะดวกและป้องกัน การปนเปื้อนได้ หากมีจุดสำรองน้ำไว้สำหรับผู้ประสบภัยใช้อุปโภคบริโภคควรมีการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด