แนะสายบุญ เลี่ยงรวมกลุ่ม ลดเสี่ยงโควิด-19
ที่มา : กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วง ผู้สูงอายุที่รวมตัวไปปฏิบัติธรรมที่สถานปฏิบัติธรรมและศาสนสถาน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เสี่ยงแพร่เชื้อ แนะปฏิบัติธรรมที่บ้านปลอดภัยกว่า
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการนำเสนอข่าวพบผู้ปฏิบัติธรรม จำนวน 42 คน ที่สถานปฏิบัติธรรมลานธรรมนำสุข จังหวัดเชียงใหม่ ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ในกรณีนี้ขอให้กลุ่มผู้สูงอายุ ที่นิยมไปปฏิบัติธรรมที่สถานปฏิบัติธรรมในแต่ละจังหวัด หลีกเลี่ยงกิจกรรมดังกล่าวในช่วงเวลานี้ แต่ใช้วิธีการปฏิบัติธรรมที่บ้านแทน เช่น ไหว้พระ สวดมนต์ และนั่งสมาธิ ส่วนศาสนาอื่น ๆ ก็สามารถสวด ละหมาด หรือทำพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ได้ที่บ้านเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการกระจายเชื้อโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายจึงต้องระวังเป็นพิเศษ
โดยข้อมูลกรมอนามัยที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 53 และเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงอายุ 60–69 ปี ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มีโรคประจำตัว โดยพบป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 36 รองมาคือโรคเบาหวาน ร้อยละ 28 และโรคไต ร้อยละ 18 สำหรับประชาชนทั่วไปที่นิยมไปถวายเพลหรือถวายสังฆทานพระที่วัด ต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T-A คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจเชื้อโควิด-19 ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ และสามารถเข้าไปประเมินตนเองได้ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย”
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ศาสนสถานต่าง ๆ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1) จัดให้มีระบบคัดกรองบริเวณทางเข้าสถานปฏิบัติธรรมและศาสนสถาน พร้อมจัดเตรียมจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำ และแอลกอฮอล์เจลไว้บริเวณประตูทางเข้า-ออก ให้เพียงพอ 2) แม่ชี หรือผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สังเกตอาการตัวเอง และวัดไข้ ทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับ มีอาการทางเดินหายใจ ตาแดง ผื่นแดง ถ่ายเหลวให้งดร่วมประกอบพิธีกรรมและแนะนำพบแพทย์ทันที 3) งดหรือเลื่อนกิจกรรมหรือพิธีกรรมทางศาสนาที่มีความแออัดออกไปก่อน ควรปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เช่น กำหนดจุดระยะห่าง 1-2 เมตร ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานที่
4) การดูแลอาคารสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยทำความสะอาดก่อนและหลังการประกอบพิธีกรรมด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศ เปิดพัดลม หากมีเครื่องปรับอากาศ ให้ทำความสะอาดระบบระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ 5) จัดจุดวางอาหาร น้ำดื่มโดยให้หยิบด้วยตนเอง จัดเตรียมอาหารเป็นชุดสำหรับ 1 คน และงดกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และ 6) หากมีโรงครัว โรงทาน ควรจัดในพื้นที่โล่งที่มีการระบายอากาศได้ดี ส่วนผู้สัมผัสอาหารต้องดูแลสุขภาพและสุขอนามัยให้ดี ตั้งแต่การปรุง ประกอบ และแจกจ่ายอาหาร รวมถึงการดูแลความสะอาดของสถานที่เตรียมปรุงและจุดรับอาหาร การจัดที่นั่งกินอาหาร โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค