แนะสังเกตสัญญาณเตือนมะเร็งปอด
ที่มา : กรมการเเพทย์
เเฟ้มภาพ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย แนะสังเกตสัญญาณเตือน ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และ เป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) การตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราการตายสูง สาเหตุสำคัญ ได้แก่ 1.การสูบบุหรี่รวมถึงยามวนต่างๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคมะเร็งปอด ผู้สูบบุหรี่อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า รวมถึงผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เองโดยตรง แต่สูดดมจากบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบก็มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เพราะในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด 2.ได้รับแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่นการก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ฉนวนกันความร้อน ผู้เสี่ยงคือผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอสเบสตอสปนเบื้อนเป็นเวลานาน อาจใช้เวลา 15-35 ปี ในการทำให้เกิดมะเร็งปอด สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแอสเบสตอส อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า 3.สาเหตุอื่นๆ มลภาวะเช่น PM 2.5 สารเบนซิน ฟอร์มาลดีฮายด์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมาก ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ หรือ แอสเบสตอสมาก่อน ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นโรคในระยะที่ลุกลามไปแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และ มีอัตราตายสูง วิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่ ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอดอาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด หากมีอาการสงสัยต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม การวินิจฉัย ทำโดยการถ่ายภาพรังสีปอด (X-ray หรือ CT scan) ร่วมกับการตรวจหาเซลมะเร็งเช่นการตรวจจากเสมหะ หรือการตัดชิ้นเนื้อจากปอดมาตรวจ เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอดแน่นอนแล้วแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติร่วมตัดสินใจ โดยพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง ระยะโรคและการลุกลาม ความแข็งแรงของผู้ป่วยเป็นหลัก
สำหรับการรักษามีทั้งการผ่าตัด การใช้ยา การฉายแสง หรือรักษาร่วมกันหลายวิธี เนื่องจากมะเร็งปอดการตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราตายสูง ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเช่นงดสูบบุหรี่ ป้องกันตัวจากการสัมผัสแร่ใยหิน หรือ มลภาวะ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และ รีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ