แนะวิธี ‘กินเจ’ ลดอ้วนไกลโรค
ที่มา : MGR ONLINE
แฟ้มภาพ
สธ. ชู “กินเจ” ป้องกันโรคหัวใจ แนะกินโปรตีนจากถั่ว เลี่ยงอาหารทอด หวานมันเค็ม เน้นผักผลไม้หวานน้อย หลากหลายหลากสี เผยผลตรวจอาหารเจ 4 ปี กลุ่มผักดองไม่พบสารบอแรกซ์ แต่เจอวัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน เนื้อสัตว์เทียมตรวจเจอดีเอ็นเอสัตว์ปนเปื้อน 66%
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 17.5 ล้านคน คนไทยมีแนวโน้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มมากขึ้น โดยปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 18,922 คน ส่วนปี 2559 มีผู้ป่วยใหม่ 10,957 คน ค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 155,000 ล้านบาท ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ น้ำหนักเกิน ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งการลดปัจจัยเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ โดยการกินเจซึ่งปีนี้ตรงกับช่วงวันที่ 1 – 9 ต.ค. 2559 ที่ประชาชนจะรักษาศีล งดบริโภคเนื้อสัตว์ หันมากินผักผลไม้ จึงส่งผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจ สามารถช่วยปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคได้
“ขอให้ประชาชนใช้โอกาสเทศกาลถือศีลกินเจในการปรับพฤติกรรมสร้างสุขภาพ กินถูกหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ อย่างพอเพียง กินโปรตีนจากถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง ทอด มีไขมันสูง มีรสเค็มจัด หวานจัด กินผักและผลไม้สดให้หลากหลายหลากสี และล้างผักผลไม้ให้สะอาดเพื่อลดสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขอให้งดอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป ซึ่งจะมีเกลือ ไขมัน และน้ำตาลสูงด้วย เน้นการกินธัญพืช หรือถั่วเมล็ดแห้ง ที่หลากหลาย อาทิ ถั่วแดง ถั่วเขียว งา เพิ่มกากใยอาหาร กินข้าวกล้องแทนข้าวขาว และเติมเต็มคุณค่าโภชนาการด้วยผลไม้รสไม่หวานจัด เสริมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดละเลิกบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลเจ หรือตลอดไป เพื่อให้มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง และเพิ่มพลังชีวิต ให้หัวใจแข็งแรง” รมว.สธ. กล่าว
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารเจส่วนใหญ่มักเป็นแป้งและอาหารทอดที่มีไขมันสูง การกินเจให้มีสุขภาพดีและน้ำหนักไม่ขึ้น คือ การกินอาหารให้ครบทุกมื้อ ปริมาณเพียงพอ เน้นกินผักและผลไม้สดที่ไม่หวานเกินไป เมนูเจสุขภาพที่สามารถทำรับประทานเองง่าย ๆ ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหลอด ปอเปี๊ยะสด ยำเต้าหู้ ลาบเต้าหู้ น้ำพริกหนุ่ม พล่าหัวปลี ส้มตำผลไม้ เป็นต้น
นพ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ มี 3 หลักการ คือ 1. เติมพลังให้หัวใจ ลดการบริโภคอาหารแช่แข็งและแปรรูป ซึ่งมีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง เลือกดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ที่ไม่หวาน เปลี่ยนขนมหวานเป็นผลไม้สด เพิ่ม ผลไม้ ผัก ให้ได้ 5 ส่วน หรือ 5 กำมือต่อวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 2. ออกกำลังกายให้หัวใจขยับ คือ ทำตัวให้กระฉับกระเฉงเสมอ โดยออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น เต้นรำ เดินเล่น หรือการทำงานบ้าน เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ และบันไดเลื่อน เดินหรือปั่นจักรยานแทนการขับรถยนต์ และ 3. รักษ์หัวใจ โดยงดสูบบุหรี่ ข้อมูลทางวิชาการ ระบุว่า การเลิกสูบบุหรี่ 2 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลง หากเลิกสูบบุหรี่ภายใน 15 ปี ความเสี่ยงจะเหลือเท่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่
นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังคุณภาพและปลอดภัยอาหารช่วงเทศกาลกินเจ โดยการสุ่มตรวจอาหารเจย่านเยาวราชแล้วนำมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่ปี 2556 – 2559 พบว่า 1. กลุ่มผักดอง เช่น กานาฉ่าย เกี๊ยมฉ่าย ผักกาดดอง หัวไชโป้ว จำนวน 102 ตัวอย่าง ตรวจผงกรอบ หรือสารบอแรกซ์ และสารกันรา ไม่พบแม้แต่ตัวอย่างเดียวทั้ง 4 ปี ส่วนวัตถุกันเสียหรือกรดเบนโซอิค/กรดซอบิค พบเกินเกณฑ์มาตรฐาน 65% ปริมาณที่พบ 1,026 – 10,608 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากที่กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่า มีการใช้ปริมาณสูงสุดในกานาฉ่าย 2. อาหารเจทำมาจากแป้งสาลี หรือบุก อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ลูกชิ้นเจ เก็บ 51 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบสารบอแรกซ์ตลอด 4 ปี 3. อาหารเจเลียนแบบเนื้อสัตว์ ได้แก่ หมูแดงเจ ทอดมันเจ เต้าปู้ปลาเจ ไส้กรอกเจ สามชั้นเจ เป็นต้น ตรวจหาดีเอ็นเอเนื้อสัตว์จำเพาะ จำนวน 35 ตัวอย่าง พบดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ปนเปื้อน คิดเป็น 66% ส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างไม่มีฉลาก และตรวจเจอในปริมาณน้อย คาดว่า อาจปนเปื้อนจากการใช้เขียงหรืออุปกรณ์บางอย่างร่วมกัน และ 4. ผักที่นิยมบริโภคช่วงเทศกาลกินเจ ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว แครอท ผักโขม กะหล่ำปลี หัวไชเท้า มะเขือเทศ เห็ดสด มะเขือยาว แตงกวา และ ผักบุ้ง เป็นต้น ตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 133 ตัวอย่าง พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกินค่ากำหนด 12%
“กรดเบนโซอิคเป็นวัตถุกันเสียที่มีความเป็นพิษต่ำ ละลายได้ในน้ำ และถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้ สำหรับผู้ที่แพ้สารนี้แม้ได้รับปริมาณน้อยอาจจะแสดงอาการได้ เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ดังนั้น ไม่ควรบริโภคครั้งละมาก ๆ ส่วนการรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ผู้บริโภค หรือผู้ปรุงอาหารควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจและอาหารต้องมีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขสาระบบอาหารที่ชัดเจน เพราะถ้าแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐานบางครั้ง อาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นม หรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อน และหลีกเลี่ยงการรับประทาน หรือซื้ออาหารที่มีการแปรรูปและรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์มากจนเกินไป ผัก ผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาดกินรับประทาน หรือนำมาปรุงอาหาร” นพ.พิเชฐ กล่าว