แนะวิธีช่วยเหลือผู้ป่วย “โรคลมชัก”
แพทย์เตือนปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักห้ามใช้สิ่งของอุดปาก เสี่ยงหลุดเข้าหลอดลม-ปอดติดเชื้อดับ แนะจับนอนตะแคง-คลายเสื้อผ้า ถ้าชักเกิน 5 นาทีรีบนำส่งรพ.
แฟ้มภาพ
นพ.อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา ให้สัมภาษณ์เนื่องในวันโรคลมชักโลกว่า โรคลมชักเกิดจากสมองที่ผลิตกระแสไฟฟ้า (คลื่นสมอง) ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น เกร็งกระตุกเหม่อลอย ทำอะไรไม่รู้ตัว เป็นต้นเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมอง เนื้อสมองผิดปกติแต่กำเนิดบาดเจ็บของสมองจากอุบัติเหตุ พันธุกรรม การได้รับสารพิษต่างๆ เป็นต้น ปัจจุบันส่วนใหญ่แล้ว พบผู้ป่วยที่เกิดจากการไม่ทราบสาเหตุมากที่สุด ปัจจุบันอัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 20-50 คน ต่อประชากร 1 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการพบผู้ปวยมากขึ้น เป็นเพราะวิทยาการทางการแพทย์ดีขึ้น ทำให้ตรวจพบผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคลมชักมักเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มากกว่าคนทั่วไปถึง 2-6 เท่า อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษากว่าร้อยละ 70-90 สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ แต่มีข้อแม้ว่าต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง
นพ.อุดม กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคลมชักมักพบใน 2 ช่วงวัย คือวัยเด็ก 0-15 ปี แต่ถ้านับผู้ป่วยอายุตั้งแต่20 ปีลงมาสูงถึงร้อยละ 70 โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อพันธุกรรม และอุบัติเหตุ อีกทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุ พบได้ร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย และอุบัติเหตุ การได้รับสารบางอย่าง เป็นต้น สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักต้องทำให้ถูกวิธี ที่ผ่านมาพบว่าการเอาช้อนหรือสิ่งของต่างๆไปงัดปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้นตัวเองนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดในทางกลับกัน การเอาสิ่งของต่างๆ เข้าปากผู้ป่วยนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดการสำลักอาหารหรือสิ่งของต่างๆ หลุดลงไปในหลอดลม เกิดการอุดตัน เกิดแผล การเกิดติดเชื้อที่สำคัญ คือเกิดการติดเชื้อในปอดทำให้เสียชีวิตได้
ดังนั้น วิธีที่ถูกต้องคือการจับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง และคลายเสื้อผ้าให้หลวมๆอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท นอกจากนี้ต้องระวังกลุ่มผู้ป้วยที่มีอาการชักเหม่อ เช่น ว่ายน้ำแล้วเกิดอาการจมลงเฉยๆ หมดสติขณะขับรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร จะต้องระมัดระวังอย่างมากหรือควรหลักเลี่ยงกิจกรรมเหล่านี้เลย
ด้าน พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานกุมารประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่โรคลมชักที่อาการกำเริบจะมีภาวะชักเกร็ง กระตุก นานประมาณ 2 นาที หากนานถึง 5 นาทีญาติจะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดการชักต่อเนื่องไม่หยุดเกิดภาวะสมองบวม ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ต้องนอนโรงพยาบาลนานเมื่อฟื้นขึ้นมาก็ไม่เป็นปกติ
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์