แนะพื้นที่น้ำลด ล้างทำความสะอาด ลดเชื้อโรคที่มากับน้ำ

ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข


แนะพื้นที่น้ำลด ล้างทำความสะอาด ลดปัญหาโรคที่มากับน้ำ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ประชาชนในพื้นที่น้ำลด ทำความสะอาดบ้านเรือน และกำจัดขยะตามหลักสุขาภิบาล ลดปัญหาโรคที่มากับน้ำ


          นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จังหวัดที่สถานการณ์น้ำท่วมได้ลดลงกลับคืนสู่ สภาวะปกติ ต้องเร่งทำความสะอาดบ้านเรือนและดูแลสภาพแวดล้อมในบริเวณบ้านและชุมชน เป็นลำดับต้นๆ เพราะน้ำท่วมจะพัดพาสิ่งสกปรกจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะมูลฝอย วัสดุ สิ่งของต่างๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ เช่น อุจจาระร่วง บิด อหิวาตกโรค ได้ เพื่อสุขอนามัยของที่ดี จึงต้องฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และที่พักอาศัยให้สะอาดปลอดภัยจากเชื้อโรคและสัตว์มีพิษ รวมถึงอุบัติเหตุ ตามขั้นตอนต่างๆ อาทิ 1)ตรวจดูระบบไฟฟ้า ต้องไม่เปียกชื้นและพร้อมใช้งาน หากชำรุดให้เปลี่ยนใหม่เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ 2)สำรวจความเสียหายของตัวบ้านและบริเวณบ้านเรือน 3)เตรียมอุปกรณ์ ถุงดำ แปรงถูพื้น สำหรับเก็บกวาดทำความสะอาด คัดแยกเศษวัสดุและขยะประเภทต่างๆ ใส่ถุงดำเพื่อรอนำไปกำจัด และให้ระวังสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ งู ขณะทำความสะอาดบ้านเรือน 4)ล้างทำความสะอาดทันทีหลังน้ำลด โดยใช้ผงซักฟอกผสมน้ำราดในบริเวณที่จะทำความสะอาดใช้แปรงขัดถูคราบสกปรกออกให้หมดหรือออกให้ได้มากที่สุด และอาจใช้น้ำหมักชีวภาพหรืออีเอ็มช่วยกำจัดคราบสกปรกและกลิ่นเหม็น 5)ดูแล ปรับปรุงห้องครัว ภาชนะอุปกรณ์ต่างๆ เช่น จาน ชาม เขียง หม้อ ชั้นวางของ ตู้กับข้าว ต้องดูว่าใช้ การได้หรือไม่ หากยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ให้นำมาขัด ล้างทำความสะอาด ตากแดดให้แห้งก่อนเก็บ หากเขียงเป็นรา แม้เช็ดล้างแล้วยังมีเชื้อราติดอยู่ ต้องทิ้ง เพื่อป้องกันเชื้อราปนเปื้อนในอาหาร และ 6)ทำความสะอาดห้องส้วม โดยชำระล้างทำความสะอาดให้ทั่วถึงทั้งบริเวณพื้น ฝาผนังห้องส้วม โถส้วมและอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องส้วม โดยใช้น้ำผสมผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดขัด ล้างและเช็ดวัสดุอุปกรณ์ให้สะอาด ในกรณีที่ส้วมเต็มหรืออุดตัน ให้ใช้น้ำหมักชีวภาพเทราด ลงในคอห่านหรือโถส้วม เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์และสิ่งปฏิกูลทำให้กลิ่นและแก๊ส ที่เกิดจากการหมักในบ่อเกรอะลดลง


          “ทั้งนี้ สุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในขณะล้างทำความสะอาดบ้านเรือน โดยผู้ล้างควรสวมหน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดจมูก เพื่อลดการสูดดมกลิ่นขยะที่หมักหมม หรือสารเคมีที่อาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และควรสวมถุงมือทุกครั้ง เมื่อล้างทำความสะอาดห้องส้วม ห้องครัว เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อโรคที่สะสมหลังน้ำลด โดยผ่านทางมือเมื่อมีการสัมผัสอาหารหรือสัมผัสกับผิวหนัง และหมั่นล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค” นายแพทย์ดนัย กล่าว


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ