แนะพัฒนาแรงงานหญิง สร้างความเท่าเทียม
กสร.จัดงานวันสตรีสากล มอบรางวัลสตรีทำงานดีเด่น ทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง เป็นตัวอย่างสตรีทำงาน สภานายจ้างหนุน ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิสตรี – ความเท่าเทียม เน้นให้ความรู้
แฟ้มภาพ
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธานเปิดงานวันสตรีสากล ภายใต้ชื่องานว่า แรงงานสตรีสมานฉันนท์ รวมพลังกันปฏิรูปประเทศไทย พร้อมกล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานสตรีกว่า 17 ล้านคน และกสร.เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลสวัสดิการของแรงงานทั่วประเทศ และดูแลให้แรงงานสตรีได้รับการปฏิบัติ มีสวัสดิการที่เท่าเทียมกับแรงงานชาย รวมทั้งได้ตระหนักถึงคุณค่าของแรงงานสตรี จึงจัดงานส่งเสริมรณรงค์สิทธิสตรี โดยกิจกรรมหลักคือการคัดเลือกสตรีทำงานดีเด่นเพื่อรับรางวัล โดยได้รับพระกรุณาจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีประทานโล่รางวัลดีเด่น โดยในปีนี้มีสตรีได้รับรางวัลจำนวน 29 คนซึ่งล้วนแล้วแต่มีความรู้ความสามารถ ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน เป็นบุคคลากรที่ทรงคุณค่าของประเทศและถือเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสตรีที่ทำงาน
ภายหลังการมอบรางวัลมีการจัดเสวนาในหัวข้อ บทบาทแรงงานสตรีในการปฏิรูปประเทศไทยด้วย โดย น.ส.จรินภร นิยม อนุกรรมการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนมองว่าการปฏิรูปแรงงานนั้นควรเริ่มจากการให้ความรู้กับแรงงาน เนื่องจากความรู้เป็นการพัฒนาคน ให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันส่งเสริมให้เปิดการศึกษานอกโรงเรียน เพิ่มความรู้และทักษะในอาชีพ ซึ่งจะทำให้นายจ้างได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามองว่ารัฐบาลต่างๆ ไม่มีการให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปแรงงาน และอยากให้กสร.ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ นายจ้างเปลี่ยนทัศนคติต่อสหภาพแรงงานว่าตั้งขึ้นมาไม่ใช่เพื่อต่อต้านนายจ้างแต่ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นตัวกลางในการพูดคุย หารือข้อตกลงกับนายจ้าง
นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน เพราะการขับเคลื่อนประเทศต้องประกอบทั้งสามฝ่าย คือนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล และมองว่าทุกคนต้องมีทักษะที่ดีจากการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งปัจจุบันแรงงานทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายมากขึ้น หากเราพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็จะถือเป็นการร่วมกันพัฒนาประเทศ ส่วนการดูแลการรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคมนั้นอยากให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ในส่วนของเงินกองทุนรักษาพยาบาลนั้น ที่มีผู้ประกันตนบางส่วนไม่ได้ใช้สิทธินี้ อยากให้สปส.ชี้แจงว่านำไปใช้ในด้านใดบ้างและนำเงินส่วนนี้ไปปรับปรุงพัฒนาสิทธิการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น
นางดารนีนุช โพธิปิติ ดารานักแสดง กล่าวว่า แรงงานสตรีต้องแสวงหาความรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติ โดยหน่วยงานรัฐควรขยายการศึกษาเข้าไปยังกลุ่มแรงงานสตรีให้มากขึ้นและขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบให้มากขึ้น เช่นอาชีพนักแสดง ไม่มีสวัสดิการรองรับนอกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ผู้ได้รับคัดเลือกประเภทสตรีนักบริหารดีเด่น สาขาสตรีผู้บริหารภาคราชการดีเด่น กล่าวว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน นายจ้างและลูกจ้าง จึงทำให้งานสำเร็จได้ ดังนั้น การทำงานจะต้องระดมความคิดและรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ส่วนตัวการทำงานร่วมกับข้าราชการสังกัดกพร.นั้นจะเน้นรับฟังความคิดเห็นและจะพิจารณาความสามารถ เพื่อดึงศักยภาพออกมาใช้ในการทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนการพัฒนาแรงงานนั้น มองว่าหากพัฒนาแรงงานจะทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้ามากขึ้นโดยเฉพาะแรงงานหญิงหากมีทักษะฝีมือสูงขึ้น จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถดูแลครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
นางสุกัญญา พรมจีน พนักงานบัญชี บริษัทอีแอนด์เอช พรีซิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ได้รับคัดเลือกสาขาสตรีเครือข่ายในสถานประกอบกิจการดีเด่น กล่าวว่า ตนทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานอีแอนด์เอช พรีซิชั่นมา 3 สมัย ปัจจุบันเข้าสู่สมัยที่ 4 ซึ่งยึดหลักแยกบทบาทและหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างพนักงานบริษัทกับเลขาธิการสภาพแรงงาน ในฐานะคนกลางจะพยายามเจรจาข้อพิพาทระหว่างแรงงานกับบริษัทโดยยึดประโยชน์ของเพื่อนพนักงานและบริษัทให้ได้ข้อยุติลงตัวซึ่งทั้งสองฝ่ายพอใจ ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานดูแลแรงงานสตรีโดยขยายความคุ้มครอง เช่น การเพิ่มระยะเวลาลาคลอดจาก 3 เดือนเป็น 4 เดือนและให้แรงงานสตรีเบิกค่าพบแพทย์ในการตรวจครรภ์จากบริษัทได้ตามความเป็นจริง ทำให้แรงงานสตรีที่เพิ่งคลอดลูกมีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้นจะช่วยส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัว
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์