แนะผู้ขับขี่เรียนรู้การใช้สัญญาณไฟถูกวิธี
ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
แฟ้มภาพ
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะผู้ขับขี่เรียนรู้การใช้สัญญาณไฟถูกวิธี ลดอุบัติเหตุ
เปิดใช้ไฟเลี้ยวเมื่อเปลี่ยนช่องทาง ขอแซงหรือกลับรถ ใช้ไฟเบรกเมื่อรถจอดติดสัญญาณไฟหรือกรณีเส้นทางมีสิ่งกีดขวางช่องทางจราจร เปิดใช้ไฟฉุกเฉินกรณีประสบอุบัติเหตุบนทางสาธารณะ เปิดใช้ไฟสูงเมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มืดมากหรือส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง เปิดใช้ไฟตัดหมอกเมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดีหรือในช่วงเวลากลางคืนหลังฝนตกถนนมีน้ำเฉอะแฉะจะทำให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจนขึ้นจึงช่วยลดความเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การเปิดใช้สัญญาณไฟเป็นการสื่อสารให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางทราบทิศทางการเดินรถ แต่หากใช้สัญญาณไฟไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ อาจสร้างความเข้าใจผิดและเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะผู้ขับขี่เรียนรู้การใช้สัญญาณไฟถูกวิธี ดังนี้ ไฟเลี้ยว เปิดใช้เมื่อเลี้ยวรถ เปลี่ยนช่องทาง ขอแซงหรือกลับรถ ล่วงหน้าในระยะไม่ต่ำกว่า 60 เมตร เพื่อให้ผู้ที่ขับรถตามหลังมาทราบทิศทางการเดินรถ จะได้ชะลอความเร็ว หรือเปลี่ยนช่องทางได้ทัน เมื่อรถกลับเข้าช่องทางปกติแล้วให้ปิดสัญญาณไฟ เพื่อมิให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางเกิดความสับสน ไม่เปิดไฟเลี้ยวในระยะกระชั้นชิดและเปลี่ยนช่องทางในทันที
พร้อมเพิ่มความระมัดระวังในการใช้สัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายบริเวณทางแยกหรือทางร่วม ไฟเบรก เปิดใช้เมื่อรถจอดติดสัญญาณไฟ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนหรือบริเวณที่มีทัศนวิสัยไม่ดี และยังไม่มีรถมาจอดต่อท้าย เพื่อให้ผู้ขับรถคันอื่นทราบว่ามีรถจอดจะได้หยุดรถทัน เปิดใช้กรณีเส้นทางมีสิ่งกีดขวางช่องทางจราจร จนต้องชะลอความเร็วและเปลี่ยนช่องทาง จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุชนท้าย
หลีกเลี่ยงการเหยียบเบรกบ่อยครั้ง เพราะนอกจากสัญญาณไฟเบรกจะสร้างความรำคาญแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทางแล้ว ยังส่งผลให้การกะระยะทางในการหยุดรถผิดพลาด ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไฟฉุกเฉิน เปิดใช้กรณีประสบอุบัติเหตุบนทางสาธารณะ จอดรถกีดขวางช่องทางจราจร ริมไหล่ทางหรือบริเวณที่แสงสว่างไม่เพียงพอ เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง จะได้เปลี่ยนช่องทางได้ทัน ไม่เปิดใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม อาทิ ขับรถผ่านสี่แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟ หยุดหรือจอดรถในที่ห้าม ขับรถย้อนศร ขับรถผ่านเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี เพราะนอกจากจะทำให้ไม่มีสัญญาณไฟเลี้ยวใช้แล้ว ยังทำให้ผู้ขับรถคันอื่นเห็นสัญญาณไฟเพียงด้านเดียว ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
หากต้องเลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องทาง ควรปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน เพราะจะทำให้ ผู้ร่วมใช้เส้นทางไม่ทราบทิศทางในการเดินรถ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ไฟสูง เปิดใช้เมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่มืดมาก เพื่อจะได้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น และปรับลดเป็นไฟต่ำเมื่อมีรถวิ่งสวนทางมา หรืออยู่ในเส้นทางที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อป้องกันแสงไฟรบกวนสายตาผู้ขับรถคันอื่น เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ เปิดใช้เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่น เพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะบริเวณทางโค้งหักศอก ทางข้าม ยอดเนิน สะพานที่โค้งยาวหรือมุมอับในช่วงเวลากลางคืน เพื่อตรวจสอบสภาพเส้นทาง แต่ต้องระวังมิให้แสงไฟรบกวนสายตาผู้ขับรถคันอื่น
ไฟตัดหมอก เปิดใช้เมื่อขับผ่านเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี อาทิ ฝนตกหนัก หมอกควันปกคลุมเส้นทาง จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้นและผู้ขับรถคันอื่นมองเห็นรถเราได้จากระยะไกล เปิดใช้ในช่วงกลางคืนหลังฝนตกหรือมีน้ำเฉอะแฉะ จะช่วยลดการสะท้อนของแสงไฟหน้ารถกับพื้นถนนที่มีน้ำเจิ่งนอง ทำให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น ปิดไฟตัดหมอกเมื่อมีรถขับสวนทางมาในระยะ 150 เมตร เพราะแสงไฟตัดหมอกส่องสว่างได้ในระยะไกล ทำให้ผู้ขับรถคันอื่นสายตาพร่ามัว ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ควรตรวจสอบสัญญาณไฟให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีแสงไฟส่องสว่างทุกดวงและหมั่นทำความสะอาดโคมแก้วครอบสัญญาณไฟ จะช่วยให้แสงไฟส่องสว่างได้มากขึ้น รวมถึงเลือกใช้สัญญาณไฟให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง