แนะป้องกันไข้หวัดใหญ่ ช่วงหนาวยาวกว่าทุกปี

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยในช่วงฤดูหนาวของปีนี้หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน มีความหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมาและมีทีท่าว่าอากาศจะหนาวเย็นอีกนานเตือนให้ประชาชนระมัดระวังดูแลสุขภาพ เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวมักมีโรคต่างๆ ระบาดได้ที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วง

นายแพทย์ปฐมสวรรค์ ปัญญาเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานมีความหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมาและมีทีท่าว่าอากาศจะหนาวเย็นอีกนานมักมีโรคต่างๆ ระบาดได้ที่สำคัญ ได้แก่โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่โรคปอดบวมโรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วง จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังดูแลสุขภาพโดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีระบบเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่และทำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อรายงานอุบัติการณ์และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นแทบทุกปี และเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับเลือกใช้วัคซีนที่เหมาะสมกับประเทศไทยในปีที่ผ่านมาพบสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด a (h1n1) ระบาดมากที่สุดประมาณร้อยละ 45 ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งผู้คนยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้

ดังนั้น นอกจากการป้องกันโรคด้วยวัคซีนแล้ว ประชาชนสามารถดูแลตัวเองให้พ้นจากการติดเชื้อได้เช่นกันและนอกจากการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์แล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังเฝ้าระวังไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด a (h1n1) พบว่ามีอัตราเชื้อดื้อยาที่ต่ำอยู่ประมาณร้อยละ1.46

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทางระบบทางเดินหายใจส่วนใหญ่ ติดโรคจากการถูกผู้ป่วยไอจามรดหรือหายใจเอาเชื้อไข้หวัดใหญ่ในฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย ที่ฟุ้งกระจายในอากาศหรือจับต้องสิ่งของที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แล้วนำมือมาจับ จมูก ปากหรือตา หลังจากที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่เพียง 1-4 วัน ก็จะเริ่มมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย และเป็นปัญหาสำคัญคือก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนคือ ปอดอักเสบได้บ่อยในเด็กและผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือกลุ่มเสี่ยงเช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน โรคเรื้อรังทางระบบหายใจ มีอาการแทรกซ้อน เช่นปอดบวม การอักเสบของเยื้อหุ้มหัวใจซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

รองอธิการบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า การป้องกันและการรักษาควรปฏิบัติดังนี้ คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายพักผ่อนให้เพียงพอ สวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นเสมอ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลทำความสะอาดมือ นอกจากนี้ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัดหากรู้สึกไม่สบาย มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ควรปิดปาก จมูก ด้วยหน้ากากอนามัยหรือใช้กระดาษปิดปาก จมูก เวลาไอหรือจาม ทานยาลดไข้ พักผ่อนให้มากดื่มน้ำบ่อยๆ ทานผักผลไม้มากๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ