แนะดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

กรมอนามัย แนะดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เนื่องจากสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัญหาหลักด้านสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุในปัจจุบัน ได้แก่ การสูญเสียฟันจน ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ส่วนผู้สูงอายุ ที่มีฟัน จะพบฟันผุ รากฟันผุ ปริทันต์อักเสบ ซึ่งมากกว่าครึ่งไม่ได้รับการรักษา นำไปสู่การสูญเสียฟัน และเสี่ยงต่อการติดเชื้อไปสู่ร่างกาย

กรมอนามัยได้แก้ปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2548 โดยการส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสภาพช่องปาก ในโครงการดังกล่าว ทำให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศได้รับบริการใส่ฟันเทียมพระราชทานปีละ 35,000-38,000 คน มีชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก 2,939 ชมรม และบริการป้องกันตามชุดสิทธิประโยชน์ในหน่วยบริการ 1,026 แห่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เนื่องจากสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผู้สูงอายุมีความสามารถในการ ดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองด้อยลง และส่วนใหญ่ต้องใช้ยารักษาโรคทางระบบที่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก ต้องการการบริการดูแล รักษาใกล้บ้าน เพื่อสภาวะช่องปากที่ดี มีฟันเคี้ยวอาหารอย่างเหมาะสม กรมอนามัยจึงเตรียมขยายเครือข่ายฟันเทียมพระราชทานเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้ด้วยตนเอง เข้าถึงบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสภาพช่องปากได้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านทันตสาธารณสุข และสนับสนุนให้เกิดบริการสร้างเสริม สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุแบบผสมผสาน บูรณาการทั้งในระดับตำบลและในชุมชน โดยให้หน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งประกอบด้วย ทันตบุคลากร บุคลากรสาธารณสุข ร่วมกันดูแลผู้สูงอายุโดย 1) สนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองผ่านชมรมผู้สูงอายุ อสม.หรือผู้ดูแลในชุมชน 2) จัดบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษาอย่างง่ายในหน่วยบริการปฐมภูมิ 3) ประสานและส่งต่อในการรักษาและใส่ฟันตามความจำเป็น รวมทั้ง ติดตามผลเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่องตลอดอายุขัย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code