แนะจัดสิทธิ “คนไร้บ้าน” ป้องกันโรคระบาด
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ
"คนไร้บ้าน” เจ็บป่วย อายุสั้นกว่าคนทั่วไป มีปัญหาสุขภาพจิต ตายจากการติดเชื้อ แนะปรับระบบพิสูจน์สิทธิสถานะ จัดสิทธิประโยชน์คัดกรอง ป้องกันป่วยจนเกิดการระบาด มีงบรักษาเฉพาะ
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวในเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ภาครัฐเคยสำรวจเมื่อนานมาแล้ว มีคนไร้บ้านประมาณ 15,000 คน อยู่ใน กทม.ประมาณ 1,000 คน ที่เหลือกระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว เพราะสัมพันธ์กับการหาเลี้ยงชีพ ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพเก็บขยะขาย ทั้งนี้ คนไร้บ้านส่วนใหญ่เป็นคนไทยและรู้ว่ามีสิทธิเข้ารับบริการในโรงพยาบาลรัฐได้ แต่ปัญหา คือ ไม่มีบัตรประชาชนยืนยัน เช่น หนีออกจากบ้าน ทำบัตรหาย จึงถูกเข้าใจว่าเป็นคนต่างด้าว หากรับบริการได้ก็ต้องผ่านกระบวนการสังคมสงเคราะห์ นอกจากนี้ คนไทยที่อาศัยอยู่ในชุมชน แต่ไม่มีบัตรประชาชนหรือสถานะทางทะเบียน เช่น ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่ไปแจ้งเกิดหรือไม่พาไปทำบัตรประชาชน ก็มีปัญหาในการเข้าถึงบริการ
"อยากให้สำรวจผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนทั่วประเทศ แล้วมาจัดกลุ่มว่าไม่มีบัตรเพราะอะไร ทำหายหรือบัตรหมดอายุแล้วไม่ได้ไปทำใหม่ หรือไม่มีบัตรมาตั้งแต่แรก เนื่องจากพ่อแม่ไม่พาไปทำให้ และอยากให้รัฐจัดสรรงบจำนวนหนึ่งให้แก่หน่วยบริการเป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลคนไร้บ้านหรือคนไม่มีบัตรประชาชน เพื่อไม่ให้หน่วยบริการหรือตัวแพทย์เองต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย" นายสุชิน กล่าว
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า กลุ่มคนไร้บ้านมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าคนทั่วไป เพศชายอายุเฉลี่ย 58 ปี หญิงอายุ 60 ปี ขณะที่คนทั่วไป เพศชายอายุเฉลี่ย 77 ปี และหญิง 82 ปี ส่วนคนไร้บ้านที่พักพิงในศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จะมีอายุยืนกว่าคนที่เร่ร่อนอยู่ข้างนอก 10 ปี และคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ข้างถนนส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะมาจากการติดเชื้อ สะท้อนว่าพื้นที่สาธารณะมีความเสี่ยงทางสุขภาพสูง และคนไร้บ้านมีความเปราะบางทางด้านสุขภาพ
นายอนรรฆ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจกลุ่มคนไร้บ้านใน จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น และ กทม. พบว่า แม้จะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว แต่กลับไม่มีคนไร้บ้านที่เป็นคนต่างด้าว กว่า 99% บอกว่ามีเอกสารแสดงความเป็นคนไทย ในจำนวนนี้ 28% บอกว่าเคยมีบัตรประชาชน มีเพียง 1% ที่บอกว่าเป็นคนไทยแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ปัญหาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไร้บ้านแบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ 1.ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสถานะทางทะเบียน และ 2.ปัญหาการเข้าถึงสิทธิจากการโอนย้ายสิทธิ โจทย์สำคัญ คือจะสร้างการป้องกันและการคุ้มครอง ให้คนไร้สิทธิ ไร้สถานะทางทะเบียนอย่างไร เพื่อที่จะได้ไม่ต้องป่วยหนักแล้วค่อยแสดงตัว
"ผมมีข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ 1.อยากให้มีแบบแผนการปฏิบัติที่ชัดเจนในการพิสูจน์สิทธิสถานะ 2.ระบบบริการจะออกแบบกลไกอย่างไรให้รองรับกลุ่มคนที่ตกหล่นได้ เพราะเวลาเขามีปัญหาไม่ใช่ปัญหาปัจเจก แต่เป็นปัญหาทางสังคมด้วย เช่น อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น และ 3.มีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น หรือสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนเปราะบางเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้” นายอนรรฆ กล่าว
ด้าน นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มองว่าปัญหาสุขภาพของคนไร้บ้าน เป็นสิ่งที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งคนไร้บ้านและคนทั่วไป เช่น อาจเกิดโรคติดต่อขึ้นมาได้ ที่ผ่านมา กทม.ลงทะเบียนคนไร้บ้านได้ประมาณ 1,900 คน และได้จัดสร้าง “บ้านอิ่มใจ” เพื่อเป็นที่พัก โดยรองรับผู้หญิงได้ 100 คน และชายอีก 100 คน และเชื่อว่า อปท.อื่นๆ ก็อยากดำเนินการในลักษณะนี้ เพียงแต่กฎหมายไม่เอื้อให้ทำ ดังนั้น ถ้ามีการแก้กฎหมายให้อำนาจ อปท. ดำเนินการศูนย์ฟื้นฟูฯ ได้ เชื่อว่าจะมีคนเข้ามาดูแลคนไร้บ้านมากขึ้น ข้อเสนอ คือ อยากให้การพิสูจน์สถานะตัวตนมีความสะดวกมากขึ้น เพราะเมื่อได้เลข 13 หลักแล้ว การเข้าถึงสิทธิการรักษาก็จะตามมา ขณะเดียวกัน การคัดกรองโรค คนไร้บ้านควรได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าคนทั่วไป เพราะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง จึงจำเป็นต้องป้องกันก่อนมาแก้ไข และอยากฝากเรื่องคนไร้บ้านที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงเนื่องจากขาดยา ฝากประเด็นให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยดูว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร