แนวทางสู่สุขภาพดีทั้งกายใจ ในช่วงเทศกาลกินเจ
ที่มา : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
แฟ้มภาพ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แนะเปิด ปรับ เปลี่ยน 3 วิธีดูแลพฤติกรรมสุขภาพในเทศกาล กินเจ ด้วยการเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ ปรับการรับประทานอาหาร เพิ่มผักผลไม้ ลดของทอด และลดแป้ง เปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารทุกครั้ง และไม่ใช้สารปรุงแต่งเสริมเติมสี
นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลถือศีล กินเจ ในการดำรงตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ งดการบริโภคเนื้อสัตว์ การกินเจนับเป็นเรื่องที่ดี เป็นการกินเพื่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายได้ปรับสมดุล เพราะอาหารเจเน้นพืชผัก หรือธัญพืชเป็นหลัก ทำให้ระบบขับถ่ายและการย่อยอาหารทำงานได้ดี ช่วยขับพิษและของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย ซึ่งจากงานวิจัยต่างๆ พบว่าการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากขึ้น และการบริโภคโปรตีนจากพืชจะมีความสัมพันธ์ตรงกันข้าม คือ ทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยรวมลดลง และรวมถึงความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย อย่างไรก็ตามคนไทยยังคงมีการบริโภคอาหารเจที่มีความเสี่ยงในการเสริมเติมแต่งอาหารให้มีรสชาติที่ดีและรับประทานตามที่ตนเองชื่นชอบ เช่น การผัดและทอดอาหารที่ใช้น้ำมันเป็นจำนวนมาก และอาจมีการใช้ซ้ำ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดอุดตัน การเพิ่มรสชาติให้กับอาหารโดยการเติมเครื่องปรุง เพื่อความอร่อยก็ส่งผลต่อการทำงานของไตได้เช่นเดียวกันซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง โดยประชาชนที่รับประทานอาหารเจ จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพให้ดีขึ้น
นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองให้มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ ด้วยการเปิด ปรับ และเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 3 วิธี ดังนี้ 1) เปิด เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ ผ่อนคลายจิตใจ ทิ้งความหม่นหมองเรื่องเศร้า ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต 2) ปรับ ปรับวิธีการให้พอเหมาะพอดี เพิ่มผักผลไม้ ทานผักผลไม้สีต่างๆ สลับหมุนเวียนนำมาบริโภค เลี่ยงของมันของทอดและลดแป้ง เมนูเจมีแป้งสูง จึงควรชดเชยด้วยน้ำเต้าหู้ หรือธัญพืชซึ่งจะช่วยต้านอนุมูลอิสระมากกว่าการเติมแป้ง ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรลดปริมาณข้าวให้น้อยลง 3) เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำมันทอดอาหารใช้เพียงครั้งเดียวไม่ใช้ซ้ำ ลดการใช้น้ำมันในการปรุงอาหารใส่แต่พอดี ลดอาหารหวาน มัน เค็มและเปลี่ยนการรับประทานอาหารที่ปรุงแต่งเสริมเติมสี เป็นการทานอาหารที่ไม่ใช้สารเติมแต่ง หรือเติม เช่น อาหารแปรรูป เครื่องปรุงอาหารต่างๆ ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ฯลฯ ที่มักมีการเติมโซเดียมในปริมาณสูง การปฏิบัติ 3 วิธีจะเป็นแนวทางที่ดีให้ประชาชนที่รับประทานอาหารเจได้ทั้งสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและความรู้ด้านสุขภาพผ่านช่องทางต่างๆ ได้ทั้งเว็บไซต์คลังความรู้สุขภาพ (healthydee.moph.go.th) เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูป ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ