แค่ปวดหัว เช็กให้ชัวร์ว่าไม่เป็นหลอดเลือดสมอง
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
ในภาวะที่ยุ่งเหยิงในปัจจุบันหลายคนเคยชินกับอาการ ปวดหัว อันเป็นอาการใกล้ตัวและเกิดซ้ำบ่อยจนคิดว่าแค่กินยาก็หาย ซึ่งนอกจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือจากอาการป่วยไข้ไม่สบายแล้ว อาการปวดหัวยังซ่อนสาเหตุ อีกมากมาย ที่มีทั้งแบบที่สามารถรักษาหายได้ด้วยตนเอง และอาการที่เป็นอันตราย
สำหรับอาหารปวดหัวที่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง มีสาเหตุจากพฤติกรรมของเรา ได้แก่ ความเครียด การทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ การใช้สายตามากเกินไป เช่น จ้องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือใช้สายตาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อ่านหนังสือในที่แสงน้อย ในบางรายอาจเกิดจากดื่มกาแฟมากเกินไป หรือปวดหัวอันมีผลพวงมาจากอาการไข้ เป็นต้น ซึ่งอาการปวดหัวเหล่านี้ จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเล็กน้อย แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม พักผ่อน หรือรับประทานยาบรรเทาอาการก็จะทุเลาลงหรือหายเป็นปกติ
ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล กล่าวถึงอาการปวดหัวที่ผิดปกติและจำเป็นต้องพบแพทย์อย่างเร่งด่วนว่า หากคุณมีอาการปวดศีรษะรุนแรงแบบฉับพลัน พูดไม่ชัด มีอาการมึนงง สับสน แขนขาชาหรืออ่อนแรงฉับพลัน หรือหมดความรู้สึกทำให้ทรงตัวลำบาก นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง
"อาการเวียนศีรษะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยๆ ในเวชปฏิบัติ ผู้ป่วยจะทรมานจากอาการทรงตัวลำบาก อาการเหมือนตัวลอยเคว้ง เสมือนเดินบนพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ มีความรู้สึกเหมือนเดินบนพื้นเอียง ไม่เท่ากันด้านซ้ายด้านขวา คลื่นไส้อาเจียนรวมถึงอาการบ้านหมุน อาการเวียนศีรษะนี้พบได้ประมาณร้อยละ 3-10 ของ ผู้ป่วยที่มีอาการมาที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล และในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เมื่อทำการตรวจด้วยการถ่ายภาพ MRI สมอง ก็มีประมาณร้อยละ 6-10 ของผู้ป่วยที่ไม่พบความผิดปกติจาก MRI สมอง"
ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของหลอดเลือดสมองหรือไม่ ให้คนใกล้ชิดสังเกตอาการ 3 ประการ หากมีเพียง ข้อใดข้อหนึ่งก็แนะนำให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ประกอบด้วย
1) อาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว โดยสังเกตว่าใบหน้ามีการขยับได้เหมือนกันทั้งด้านซ้ายหรือขวา
2) ให้ผู้ป่วยพูดออกเสียง หรือพูดตามคำที่ผู้ตรวจพูดแล้วสังเกตว่าผู้ป่วยสามารถออกเสียงได้ชัดเจนหรือไม่
3) ให้ผู้ป่วยหลับตาแล้วยกแขนที่ศอกทั้งสองข้างเหยียดตึง ชูสูงขึ้น แล้วสังเกตว่ามีการอ่อนแรงของแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่
อาการเวียนศีรษะอาจเป็นอาการเตือนหนึ่งของภาวะความ ผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (STROKE) ทั้งนี้ หากดูผิวเผิน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการสังเกตคือ
1. อาการผิดปกติของความรู้สึกของใบหน้าหรือแขนขาฝั่งตรงข้ามต่อความรู้สึกร้อนหรือเย็น และความรู้สึกรับรู้ความแตกต่างของความคมของเข็มระหว่างสองจุด
2. มีอาการทรงตัวลำบากหรือไม่
3. มีอาการที่ดวงตา เช่น หนังตาตกหรือไม่ หากพบมีอาการใน ข้อใดข้อหนึ่งร่วมกับผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพราะผู้ป่วยที่เวียนศีรษะรายนี้อาจมีความผิดปกติของหลอดเลือดในสมองร่วมด้วย
ภาวะความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (STROKE) เป็น ภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นทันทีทันใด มักไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า แต่หากประชาชนทั่วไปมีความรู้เบื้องต้นบ้างในการสังเกตคน ใกล้ตัว ก็อาจจะเป็นประโยชน์ในการตรวจพบความผิดปกติทางระบบประสาทบางอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งเป็นอาการที่ คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย และหากสังเกตพบเพียงข้อใด ข้อหนึ่งการรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายในช่วงเวลา 3 ชั่วโมงแรกนับตั้งแต่สังเกตพบอาการผิดปกติ ผู้ป่วยก็จะสามารถได้รับการรักษาและมีโอกาสลดความพิการหรือเสียชีวิตได้