แค่ปรับมุมคิด ใครว่า “ชีวิตเลือกตายไม่ได้

ข้อมูลจาก: งานแถลงข่าว Let’s move! ชีวาภิบาล 

ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    เพราะไม่รู้นาฬิกาชีวิตจะหยุดเดินเมื่อไหร่ ในเวลา-สถานที่ใด-กับใคร หลายคนหนีไม่พ้น ต้องจาก ครอบครัวโดยไม่ได้เอ่ยคำลา ซ้ำยังอ้างว้างอยู่ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ไม่อาจทำได้ตามใจปรารถนา แต่ หากเข้าใจความหมายของ “การตายดี” ไม่ใช่ยื้อทรมาน ชีวิตพ้นกับดัก ความรู้สึก ทั้งรัก อาลัย เสียดาย กตัญญู กลัวผิดบาปทางใจ อาจให้ช่วงท้ายมีของชีวิต ได้อยู่ในบ้านที่เราคุ้นเคย เตียงที่เคยนอน และอ้อมกอดคนที่รัก

                    สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับกลุ่ม Peaceful Death และเครือข่าย ผลักดันให้เกิดโครงการเมืองกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี ส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ ครอบครัวอาสาสมัคร และชุมชน ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างเข้าใจ และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกิดการขยายของระบบชีวาภิบาล ครอบคลุมการการดูแล ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะยาว และระยะท้าย

                    นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ไทยขณะนี้ พบอัตราประชากรผู้สูงอายุค่อย ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ 20% ของจำนวนประชากร หรือคิดเป็น 14 ล้านคน ส่งผลให้อัตราป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

                    จากภาวะความเสื่อมถอยของร่างกาย สอดคล้องกับข้อมูลของ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คาดการณ์ว่า มีผู้ป่วยที่อยู่ในระยะประคับประคองเพิ่มขึ้น 229,817 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็ง 30%, โรคหลอดเลือดสมอง 17%, โรคไต 11%, โรคหัวใจ 10% และโรคทางเดินหายใจ 5%

                    “ทั้งระบบชีวาภิบาล และสถานชีวาภิบาล จะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากความเข้าใจของทุกคนที่ตรงกันว่า เมื่อถึงฉากสุดท้ายของชีวิต ระบบบริการสาธารณสุขจะมาผูกโยงอย่างหลีกไม่ได้ หากป่วยรักษาหาย  กลับมามีชีวิตอยู่กับครอบครัว ทำประโยชน์ให้สังคมได้อย่างปกติก็ดี แต่หากไม่หาย ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง อาจครองสติไม่ได้ แต่รู้สึกตัวที่จะตอบข้อซักถามได้ ทำให้การตัดสินใจเป็นของญาติ และอาจไม่ได้ ทำเจตจำนงที่แท้จริงของผู้ป่วยที่เคยให้ไว้ ท้ายที่สุดก็การเป็นยื้อชีวิตให้ทรมาน” นพ. พงศ์เทพ กล่าว

                    นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า การตายดี สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังคงเจตจำนงของเจ้าของชีวิต “สมุดเบาใจ”, “พินัยกรรมชีวิต” จึงเกิดขึ้น เพื่อให้ได้นำมาใช้ในช่วงเวลาวิกฤตของชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ระบบชีวาภิบาลต้องเริ่มตั้งแต่การรักษาพยาบาล โดยปัจจุบันสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกทม. เริ่มมีระบบชีวาภิบาลเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายและเข้าใจในคนทั่วไป แต่รูปแบบของระบบชีวาภิบาลเพื่อให้สอดคล้องกับ การตายดี คือ ระบบสาธารณสุขเชื่อมโยงกับครอบครัว ซึ่งในปัจจุบัน  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพของสปสช. ช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์-กายอุปกรณ์ ที่จำเป็นให้กับครอบครัวของผู้ป่วยระยะประคับประคองในชุมชน ได้หยิบยืม ที่นอนลม ป้องกันแผลกดทับ รถเข็นเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เป็นต้น

                    “การยืมกายอุปกรณ์ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของป่วย ปัจจุบัน ยังไม่ได้ครอบคลุมทุก รพ.สต. เพราะอุปกรณ์เหล่านี้สามารถนำมาหมุนเวียนและใช้ร่วมกันได้ ส่วนสถานชีวาภิบาลในกทม. มีในศูนย์บริการสาธารณสุขบางแห่งของกทม. และภาคเอกชนบางแห่ง” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                    สอดคล้องกับข้อมูลของ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายชีวาภิบาล กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข  มีสถานชีวาภิบาล ประมาณ 80% และ มีหน่วยดูแลประคับประคอง ในระดับรพ.สต. ประมาณ 500 แห่ง แต่การบูรณาการให้เกิดการพัฒนาระบบชีวาภิบาล ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ตายดีเป็นอย่างไร ไปจนถึงเกิดนวัตกรรม การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย และสิ่งสำคัญ คือ ต้องบอกโอกาส ความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการรักษา เพื่อให้ครอบครัวและญาติ มีเวลาไตร่ตรอง และตัดสินใจอย่างถูกต้อง ก่อนถึงช่วงระยะท้ายของผู้ป่วย

                    “ทุกคนอยากตายดี แต่การตายดีไม่ง่าย เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะระบบบริการสาธารณสุขไม่อยากให้มีใครตาย ดังนั้น ระบบบริการสาธารณสุขต้องสร้างโอกาสให้เกิดการตายดี เริ่มจากบริการสาธารณสุข อยากให้ตายดีที่บ้าน ระบบสาธารณสุขต้องเข้าไปช่วยสร้างความมั่นใจ เพราะครอบครัว ญาติ มักขาดความมั่นใจ คิดว่าหากไม่ช่วยเต็มที่เท่ากับตายทรมาน หรือคิดว่ายังมีโอกาสรอด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

                    ขณะที่ นางสาววรรณา จารุสมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการเมืองกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี กลุ่ม Peaceful Death กล่าวว่า โครงการเมืองกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี มีหมุดหมายสำคัญ คือ 1. Move สถานพยาบาล ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เชื่อมโยงแนวทางการทำงานระบบชีวาภิบาล และถอดบทเรียน 2. Move ระบบชีวาภิบาล ไปสนับสนุนชุมชน พัฒนาในพื้นที่ ให้มีความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย สร้างสังคมกรุณาและเกื้อกูลกันในระดับพื้นที่ ทั้งนี้เตรียมเสนอให้เกิดระบบชีวาภิบาลในระดับท้องถิ่นกับรัฐบาล เพื่อ กำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ และบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

                    “การตายดี ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทุกคนต้องตายในบ้าน แต่หมายถึงการไม่ยื้อทรมาน ยังคงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกรณีที่บ้านไม่พร้อมเป็นที่ตาย สังคมจะช่วยอะไรได้บ้างที่จะเอื้อให้ผู้ป่วยในระยะท้ายได้อยู่ในบ้าน ในเตียงที่คุ้ยเคย และอยู่ท่ามกลางคนที่รัก อาจมีเทคโนโลยีเข้าช่วย เช่น เทเลเมดิซีน ที่ให้ญาติได้สื่อสารกับคุณหมอว่าควรทำอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจ ปรับยา หรือการดูแล ทุกอย่างคือระบบสนับสนุน ที่สามารถฝึกสอนกับญาติที่ใกล้ชิดได้ เพราะระยะท้ายไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตทันที” นางสาววรรณา กล่าวว่า

                    สำหรับอุปสรรคสำคัญ ของการตายดี นางสาววรรณา กล่าวว่า มีทั้งภาวะเบิร์นเอาท์ของญาติ ที่เกิดจากความอ่อนล้าจากการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ และต้องดูแลผู้ป่วยในเวลาเดียวกัน  ดังนั้นหากมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น อสม. หรือ สถานชีวาภิบาลมาช่วยเหลือระยะหนึ่ง ก็จะช่วยให้การตายดีของผู้ป่วยมีโอกาสเกิดได้จริงที่บ้าน  และบริบทเมือง ความบีบคั้นในสังคม เนื่องจากสัดส่วนวัยแรงงานลดลง คนแต่งงานไม่มีลูก ในขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขาดคนดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้งสังคมเมืองขาดความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีน้ำใจ ช่วยเหลือกัน จึงเป็นสาเหตุที่ต้องมี  “ชุมชนกรุณา”  เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม

                    “ความยากอยู่ที่สภาวะบีบคัน โครงสร้างมีผู้สูงอายุมากขึ้น ประชากรวัยแรงงานลดลง ผู้แลไม่มี และ ใน 1 ในครอบครัว จะต้องมี 1 คน ออกไปทำงาน แต่หาก 1 คนต้องดูแลผู้สูงอายุถึง 2 คน ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการทิ้งพ่อแม่จากข่าว หรือ ผู้สูงอายุบางคนไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน ยอมทำผิดติดคุก เพื่อให้มีข้าวกิน เรื่องแบบนี้เคยเกิดมาแล้วในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ในเรือนจำ มีระบบสวัสดิการ ทั้งอาหาร มีหมอดูแลสุขภาพ จึงเลือกขโมยของเพื่อหวังติดคุก” นางสาววรรณา

                    ขณะเดียวกันนายเสกข์ศิลป์ ศรีสุขสันต์  นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ได้รับการชักชวนจากเพื่อนให้มาร่วมฟังข้อมูลเรื่องระบบชีวาภิบาล ที่เชื่อมโยงกับเรื่องการตายดี ซึ่งความตาย เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องเผชิญไม่อาจหลีกหนีได้ ยิ่งได้รับฟัง ถึงแนวทางการทำอย่างไรให้เกิดการตายดี ทั้งการได้อยู่บ้าน นอนบนเตียงที่เราคุ้นเคย และอยู่ท่ามกลางคนที่เรารัก นับเป็นฉากชีวิตสุดท้ายที่สมบูรณ์ และเชื่อว่าทุกคนต้องการ ทั้งนี้การมาร่วมรับฟังทำให้เห็นถึงทิศทางและอนาคตของระบบสุขภาพระยะท้ายของชีวิต ที่เชื่อว่าทุกคนจะได้ใช้หากเกิดได้จริง

                    “มารับฟังครั้งนี้ เห็นแนวทาง เห็นถึงหน่วยงานในอนาคต ที่เราสามารถพึ่งพิงได้ หากคนในครอบครัวต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายหรือประคับประคอง และเชื่อว่าในอนาคตแม้แต่ตนเองก็คงได้ใช้ ” นายเสกข์ศิลป์ กล่าว

                    เพราะความตาย เหมือนเงาตามตัว ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ในหลักทุกศาสนา จึงให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต แต่สิทธิการตาย เป็นสิ่งที่เลือกได้ ตั้งแต่ยังมีลมหายใจ เพียงแต่คนใกล้ชิด ต้องไม่ติดกำดักความคิด ร้องขอต่อชีวิต ให้กับสังขารคนรักที่ผุพังเกินยื้อ เพราะมีแต่จะเพิ่มชั่วโมงทรมาน ให้กับร่างที่นอนนิ่ง เอ่ยปากร้องขอ สิ่งใดก็ไม่ได้ มีแต่ระบบประสาทที่ขยับสั่นไหวด้วยความเจ็บปวดจากเข็มที่แทงตามแขนขาเท่านั้น

Shares:
QR Code :
QR Code