แก้พฤติกรรมเด็กติดเค็ม ได้สุขภาพ ไม่เป็นโรคไต

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจาก สสส.


แก้พฤติกรรมเด็กติดเค็ม ได้สุขภาพ ไม่เป็นโรคไต thaihealth


หากเคยเข้าใจว่า โรคไต จะเป็นได้กับผู้ใหญ่เท่านั้น คงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่แล้ว เนื่องจากการล้างไตผ่านหน้าท้องและการฟอกเลือด มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับเด็กและคนหนุ่มสาววัยทำงาน อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่จะช่วยปกป้องชีวิตของคนที่เรารักจากโรคไตได้คือ หยุดพฤติกรรมการกินเค็ม ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องรู้ว่าอาหาร ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส หรือผลิตภัณฑ์ใดที่มีโซเดียมสูง จะได้หลีกเลี่ยงหรือกินปริมาณที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงเป็นโรคไตของเด็ก


ในงานรวมพลังประกาศเจตนารมณ์ "แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดเค็ม" และการจัดงานกิจกรรมวันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2562 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันก่อน ซึ่ง นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเป้าหมายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมของประเทศไทย ต้องร่วมกันสู้ลดเค็มให้ได้ 30% ภายในปี 2568 สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก หากทำสำเร็จจะลดรายจ่ายทางสุขภาพหลายหมื่นล้านต่อปี อีกทั้งย้ำทุกภาคส่วนต้องประสานพลังลดเค็มในเด็กและเยาวชน บรรเทาความเสี่ยงเกิดโรคในอนาคต และสนับสนุนผู้ประกอบการปรับสูตรปริมาณโซเดียมลงให้ได้ 10% ในทุก 2 ปี


แก้พฤติกรรมเด็กติดเค็ม ได้สุขภาพ ไม่เป็นโรคไต thaihealth


.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ คณะกรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทย 22 ล้านคน ป่วยเป็นโรคสัมพันธ์กับการกินเค็ม และมีผู้ใหญ่เป็นโรคไต 8 ล้านคน ผู้ป่วยกว่า 1 แสนคน ต้องรักษาด้วยการฟอกเลือดและล้างไตผ่านหน้าท้อง เหตุหลักเกิดภาวะไตวายเรื้อรังจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง แต่ละปีมีคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่ม 15% การกินเค็มต่อเนื่องก่อโรคความดันโลหิตสูง และเสี่ยงเกิดโรคไตในอนาคต หากป้องกันสามารถชะลอความเสื่อมของไต


"โรคไตเป็นได้ตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ ช่วงวัยที่พบมากอายุ 40-50 ปี โรคไตในเด็กนอกจากมีสาเหตุจากพิการแต่กำเนิด ปัจจุบันยังมาจากพฤติกรรมการกิน ซึ่งมีเด็กล้างไตและฟอกเลือดราว 1,000 ราย ซึ่งผู้ปกครองต้องสังเกตอาการนำ เช่น อาการบวม ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะสีเข้มมีฟองหรือมีเลือดปน ต้องพบแพทย์วินิจฉัย แนวโน้มในไทยพบเด็กป่วยโรคไตมากขึ้น เหตุกินเค็ม ติดรสเค็มแต่เล็ก ปัญหามาจากผู้ปกครองกินเค็มหรือนิยมใช้ซอสปรุงรสในข้าวต้ม โจ๊ก ผู้ใหญ่กินเค็มเกิน 2 เท่า แต่เด็กกินเค็มเกินเกือบ 5 เท่า การกินเกลือเยอะส่งผลเป็นความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุไม่มาก อีกทั้งเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน เพราะแคลเซียมสลาย รวมถึงเมื่อเด็กกินเค็มเกินจะหิวน้ำ มีการดื่มน้ำหวานทำให้เกิดโรคอ้วนลงพุง" แพทย์โรคไตในเด็กกล่าว และยืนยันติดรสเค็มแก้ได้ เมื่อลดเค็ม ต่อมรับรสที่ลิ้นใช้เวลาปรับ 2 สัปดาห์ก็คุ้นกับอาหารรสชาติปกติ


หนึ่งในภาคีเครือข่ายสำคัญสู้ไม่ถอยให้มีมาตรการลดเค็มในไทย คือ เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการหลายๆ อย่างเพื่อให้ความรู้ ติดตามควบคุมกำกับ และเฝ้าระวัง เพราะปัจจุบันพบวัยรุ่นอายุ 20 ปีเป็นความดันโลหิตสูง และอายุ 30 ปีเป็นโรคไต เพราะโซเดียมสะสม ทำลายสุขภาพ ผู้ปกครองให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ขนมกรุบกรอบเค็มมาก ปลาเส้น 1 ซอง มีโซเดียมถึง 666 มิลลิกรัม สาหร่าย 304 มิลลิกรัมต่อซอง มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินแบบไม่ต้มโซเดียม 1,500 มิลลิกรัม โจ๊กคัพ 1,200 มิลลิกรัม แค่เด็กกินซองเดียวก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว ปริมาณโซเดียมที่เด็กอายุ 6-8 ปี ควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400-1,175 มิลลิกรัม และอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม ผู้ปกครองต้องมีความรู้ ต้องลดเค็ม เพื่อช่วยลูกห่างไกลโรค


นอกจากความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองแล้ว ยังต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ไทยต้องนำมาตรการทางภาษีและราคามาใช้ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจจากราคา ไม่ใช่คุณค่าทางโภชนาการ รัฐบาลต้องมีกฎระเบียบการคลังที่เหมาะสมให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ราคาไม่แพง เค็มมากเป็นภัยต่อสุขภาพ เค็มมากเสียภาษีมาก จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมลดปริมาณโซเดียมลง ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนระยะยาวดีขึ้น ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ลดลง


แก้พฤติกรรมเด็กติดเค็ม ได้สุขภาพ ไม่เป็นโรคไต thaihealth


เดินหน้าสร้างความตระหนักเด็กไทยกินเค็มเกิน 5 เท่า ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แม้หลายประเทศ เช่น สหรัฐเผชิญปัญหาเด็กกินเค็มรุนแรงกว่าไทย พบเด็ก 1-3 ขวบ กินเค็มถึง 79% เยาวชนอายุ 12-19 ปี มีความดันโลหิตสูง จนมีการปรับสูตรลดเกลือในอาหารและขนม หันกลับมาที่บ้านเราจะแก้ปัญหาเด็กติดเค็มอย่างไร นอกจากให้ความรู้ ใช้มาตรการจูงใจผู้ประกอบการแล้ว เห็นว่า การสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลดเค็ม ส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพตามสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำงาน ชุมชน วัด ก็สำคัญ


"ส่วนการแก้ปัญหาที่ทำได้ทันที คือ มีกฎกติกาในบ้าน พ่อแม่กำกับให้ลูกแบ่งกินต่อมื้อ ไม่ควรกินขนมกรุบกรอบจนหมดซองในมื้อเดียว สอนวิธีดูฉลากปริมาณโซเดียมบนผลิตภัณฑ์ขนมต่างๆ รวมถึงส่งเสริมให้กินผักผลไม้ การออกกำลังกาย ถ้าฟูมฟักและสร้างกติกาการกินให้เด็ก จะช่วยให้มีสุขภาพดีและ ป้องกันโรคได้แน่นอน ส่วนโรงเรียนต้องมีนโยบายร้านขายอาหารลดปริมาณโซเดียม ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังปรับปรุงหลักสูตร เน้นย้ำเรื่องโภชนาการ การลดบริโภคโซเดียมไว้ในหนังสือเรียนด้วย ทุกฝ่ายร่วมมือกันจุดประกายลดเค็มเป็นประเด็นสำคัญของคนไทย" ดร.ไพโรจนกล่าว


ทุกการขับเคลื่อนลดเค็ม เป้าหมายเพื่อให้เด็กไทยห่างไกลโรคและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอัตราเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของประเทศ สำหรับผู้ที่สนใจว่าโซเดียมเป็นปีศาจร้ายทำลายสุขภาพอย่างไร สามารถร่วมกิจกรรมวันไตโลก ปีนี้จะจัดวันที่ 17 มี.ค. ณ ลาน เอเทรียม ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ฟรี มีกิจกรรมตรวจคัดกรองโรคไต ตรวจวัดความดันโลหิต รวมถึงนิทรรศการให้ความรู้อีกมากมายเหมาะกับทุกกลุ่ม

Shares:
QR Code :
QR Code