แก้ปัญหาแม่วัยใส สังคมร่วมช่วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
"แม่วัยใส-ท้องไม่พร้อม" ปัญหาสำคัญของไทย ย้อนไป เมื่อต้นปี 2557 พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ เปิดเผยว่า ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2556 ประเทศไทย มีหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ตั้งครรภ์สูงถึง 54 คนต่อประชากร วัยรุ่นแสนคน สูงกว่าเกณฑ์ที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าไม่ควรเกิน 15 คน ต่อประชากร วัยรุ่นแสนคน
ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลจาก สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ระบุว่า อัตราส่วนการคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี เท่ากับ 53.8 คนต่อประชากรหญิงวัย 15-19 ปีพันคน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า มีการทำคลอดในหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 3,725 ราย รวมถึงมีการตั้งครรภ์ซ้ำและคลอดอายุในกลุ่มผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 15,443 ราย โดยหากเทียบกันในกลุ่มประชาคมอาเซียน 10 ชาติ ไทยนั้นเป็น "อันดับ 2" ในอาเซียนที่มีแม่วัยใส รองจากอันดับ 1 คือ "ลาว" ซึ่งอยู่ที่ 56 คน ต่อประชากรวัยรุ่นแสนคน
อันดับแบบนี้ "คงไม่มีใครอยากได้" เช่นเดียวกัน..ปัญหา "ท้องไม่พร้อม" มักมาพร้อมกับ "ทำแท้งเถื่อน" ดังที่เมื่อหลายปีก่อนมีข่าวพบซากทารกนับพันซุกซ่อนอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่ามาจากคลินิกทำแท้งเถื่อน ขณะเดียวกันก็มีข่าวเป็นระยะๆ ว่ามีวัยรุ่นไปใช้บริการคลินิกเหล่านี้แล้ว "เสียชีวิต" เนื่องจากการทำแท้งในสถานที่ดังกล่าวใช้วิธีการที่เป็นอันตราย ทั้งนี้สาเหตุสำคัญของการต้องแอบไปทำแท้ง เพราะสังคมไทยมองผู้หญิงทั้งที่ "ทำแท้ง" และ "ท้องก่อนแต่ง" ในทางลบโดยเฉพาะการ "ท้อง-แท้งในวัยเรียน"
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเขียนบทความ "ทลายความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง" อ้างถึง คำกล่าวของ ธาวิต สุขพานิช ซึ่งเป็นอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปัจจุบันเกษียณแล้ว) ที่ระบุว่า กฎหมายลักษณะผัวเมียของไทยในอดีต "ไม่เอาผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง" โดยสมัยนั้นใช้คำว่า "รีดลูก" ขณะที่ความผิดฐานทำแท้งเพิ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับ ประมวลกฎหมายอาญา ปี 2499 หรือเมื่อ 60 ปีมานี้เองเท่านั้น"ทำแท้ง=หญิงชั่ว" จึงไม่น่าใช่ค่านิยมดั้งเดิม" ปัญหา "ท้อง-แท้ง ในวัยรุ่น" กลายเป็น "วาระแห่งชาติ" ถึงขนาดต้องมีกฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะ คือ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 30 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วันให้หลัง ซึ่งสาระสำคัญ "มาตรา 5" ระบุว่า "วัยรุ่นมีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง" ในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับอนามัย เจริญพันธุ์ อาทิ การได้รับข่าวสารและความรู้ การได้รับบริการ รักษาความลับและความเป็นส่วนตัว เข้าถึงสวัสดิการสังคม เป็นต้น
เมื่อประกอบกับ "มาตรา 7 (2)" ว่าด้วยหน้าที่ของ "สถานบริการ" อันหมายถึงสถานพยาบาลต่างๆ ไว้ว่า จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาและบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ได้มาตรฐานสำหรับผู้รับบริการซึ่งเป็นวัยรุ่น และสอดคล้องกับสิทธิตามมาตรา 5 รวมถึงระบบ "ส่งต่อ" เพื่อให้ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมอย่างครบวงจร
ทว่า "ความท้าทาย" เกี่ยวกับสิ่งที่แม้กฎหมายนี้จะกำหนดไว้ แต่เมื่อถึงเวลาบังคับใช้จริงอาจมีปัญหาเกิดขึ้น อยู่ที่ "มาตรา6" ซึ่งระบุว่า สถาบันการศึกษาต้องจัดให้มีการสอน "เพศศึกษา" รวมถึงจัดหาและพัฒนาทั้ง "หลักสูตร-บุคลากร" ให้มีความรู้และทักษะในการให้ คำแนะนำปรึกษา สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการ ตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกับผู้เรียน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า "เพศ" เป็นเรื่อง "ห้ามพูด" ในสังคมไทย
"เวลาเรานำเสนอเรื่องสุขภาพหรือปัญหาทางเพศ มันจะถูกนำเสนอในแง่ลบตลอด ให้รู้สึกว่าอันตราย น่ากลัว นำมาซึ่งปัญหา จะทำยังไงให้สังคมไทยมองเรื่องเพศเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งพอเป็นแบบนี้ มันก็จะไปตกร่องที่ว่า.. เอ้า ต่อไปนี้เราจะพูดเรื่องเพศยังไงก็ได้ใช่ไหม? ไม่มี ข้อห้ามใช่ไหม?.."
จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริม สุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่กล่าวในงานเสวนาว่าด้วยผลสำรวจ ของมีเดียมอนิเตอร์ เมื่อปลายเดือนเม.ย. 2559 ว่า ด้านหนึ่งรายการบันเทิงในช่องโทรทัศน์ของไทย เต็มไปด้วยเนื้อหา "สองแง่สองง่าม" แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยกลับไม่ยอมให้มีการสอนเพศศึกษาในลักษณะ "สร้างความเข้าใจ ที่ถูกต้อง" อย่างตรงไปตรงมาเพราะกลัวจะเป็นการ "ชี้โพรงให้กระรอก" จิตติมา ยกตัวอย่าง "เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น" จะห้ามไม่ให้มีก่อนวัยอันควรได้หรือไม่? แต่หาก "ไม่ได้" แล้วจะมีอย่าง "ไม่ก่อปัญหา" ทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง ได้อย่างไร? ซึ่งไม่ใช่แค่การรู้ว่า "ถุงยางอนามัย" สามารถป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์เท่านั้น แต่ต้องมีทักษะในการ "ปฏิเสธ" การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยได้ด้วย
"การรู้เท่าทันเรื่องเพศมันหมายถึง..อันที่หนึ่งต้องเข้าใจตนเอง เข้าใจสังคม อันที่สองต้องมีข้อมูลที่เพียงพอที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัยได้ อันที่สามคือทักษะที่จะสื่อสาร ต่อรอง ปฏิเสธ ถ้าองค์ประกอบทั้ง 3 นี้ครบถ้วน มันก็จะทำให้คนใช้ชีวิตทางเพศได้ปลอดภัย มากขึ้น" ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริม สุขภาวะทางเพศ สสส. ฝากข้อคิด
สำหรับ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการ ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป ส่วนจะ "ลด-แก้" ปัญหา แม่วัยรุ่นท้องไม่พร้อม รวมถึงทำแท้งเถื่อนได้มากน้อยเพียงใด? ยังเป็นเรื่องที่ต้องตามดูกันต่อไป แต่สิ่งที่ต้อง "ตระหนัก" คือในขณะที่ด้านหนึ่งสังคมไทยมองเรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่อง "น่าอับอาย" ห้ามพูดถึง แต่อีกด้านหนึ่งโลกของการสื่อสารไปไกลถึงขั้นออนไลน์ "ไม่มีใครควบคุมได้" เด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อลามกและความเชื่อทางเพศที่ผิดๆ ได้ง่ายเพียงแค่ "คลิกเดียว" บนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ
ฉะนั้นแค่ "มีกฎหมาย" ปัญหาก็อาจไม่จบ..หาก "ทัศนคติ" สังคมไม่เปลี่ยนตาม