แก้ปัญหาเด็กนอกระบบให้เหลือ “0”
จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย เมื่อปัจจุบันมีเด็กไทยหลุดหายออกจากระบบการศึกษา ราว 3 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรเด็กเยาวชนไทยทั้งระบบ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในระบบการศึกษาอีกถึง 2 ล้านคน ส่งผลให้ปัจจุบันในแต่ละจังหวัดมีเด็กด้อยโอกาสและเด็กกลุ่มเสี่ยงเฉลี่ยจังหวัดละ 60,000-70,000 คน คิดเป็นสูญเสียทางเศรษฐกิจตลอดช่วงชีวิตการทำงานของประชากรกลุ่มนี้ กว่า 12,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งสูงกว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแต่ละจังหวัดในเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ถึง 10 เท่า
ผลกระทบหนึ่งของการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กไทย ส่งผลให้ความสามารถแข่งขันของไทย (imd world competitiveness yearbook 2012) ถูกลดอันดับการแข่งขันลดลงเป็นอันดับที่ 30 และอันดับด้านการศึกษาก็ลดลงเป็นอันดับที่ 52 จากทั้งหมด 59 ประเทศ โดยพบว่าการศึกษาเป็นตัวฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขัน
“การจัดการศึกษาเพื่อกลุ่มเด็กเสี่ยงและเด็กด้อยโอกาส” กลายเป็นโจทย์สำคัญของเวทีปฏิรูปการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ครั้งที่ 6 เพื่อนำสู่การแลกเปลี่ยน ถอดบทเรียนถึงปัจจัยความสำเร็จจากกรณีศึกษาการแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กด้อยโอกาส ให้เหลือ “0”
เริ่มจากกรณีศึกษาของโฮงเฮียนจาวบ้าน (โรงเรียนบ้านแม่จัน) จ.เชียงราย จากอัตราการออกกลางคันของนักเรียนในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ปี 2547-2549 มีจำนวนสูงถึง 800-900 คน/ปี จนเกิดกลุ่มคนที่ไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานในท้องถิ่นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการจับเข่าคุยร่วมกันระหว่างผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผ่านเวทีประชาคม เพื่อหาทางออกให้เด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาได้กลับเข้าห้องเรียนอีกครั้ง
“โฮงเฮียนจาวบ้าน” จึงก่อตัวขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน โดยมีโรงเรียนบ้านแม่จัน (เชียงแสนประชานุสาสน์) เป็นผู้นำจัดการเรียนรู้ให้เด็กออกกลางคันในวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยระบบคัดครองที่ไม่ใช่เพียงเปิด “คลินิก” ให้คำแนะนำเป็นพิธีการ แต่สร้างให้เกิดกระบวนการค้นหาต้นตอของปัญหา หาแสวงหาหนทางในแก้ไขร่วมกันทั้งครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
อีกกรณีศึกษาหนึ่งในการแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา อย่าง โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ด้วยการวาง“ระบบดูแลคัดกรอง” จน สามารถลดเด็กเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษาได้ 100% ด้วยการรู้จักนักเรียนเป็นรายกรณี มีการต่อให้เด็กในแต่ละประเภท ผ่านกิจกรรมโฮมรูม การประชุมระหว่างพ่อแม่ การเยี่ยมบ้านเด็ก ซึ่งมีการขยายผลให้ความรู้กับโรงเรียนทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 100 โรงเรียน ตั้งแต่ปี 2545
ติดตามเคล็ดไม่ลับ การจัดการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงที่กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา และวิธีการช่วยเหลือดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ในเวที“ปฏิรูปการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “การจัดการศึกษาเพื่อกลุ่มเด็กเสี่ยงและเด็กด้อยโอกาส” โดย สสค.ร่วมกับกลุ่มเพื่อนปฏิรูปและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ที่เว็บไซต์ สสค. www.qlf.or.th
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน