แก้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเริ่มที่ ‘ชุมชน’
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องดื่มที่คนไทยคุ้นชินเรียกได้ว่ามีงานเลี้ยงรื่นเริงที่ไหนก็ต้องมีของเหลวมึนเมาชนิดนี้ที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นงานบุญอย่างขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลอย่างงานแต่งงาน งานบวช งานอวมงคลอย่างงานศพ ก็เป็นอันต้องเห็นเครื่องดื่มชนิดนี้ไปเสียทุกครั้งไป
จากการรวบรวมข้อมูลของ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่า ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7.1 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี
อีกทั้งข้อมูลจากกรมสรรพสามิตบ่งชี้ว่า ปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าเพิ่มขึ้นจากประมาณ 24 ล้านลิตรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2542 เป็นประมาณ 42 ล้านลิตรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2554 เป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ต่อปี
จากการศึกษายังพบอีกว่า ความชุกของนักดื่มในประชากรผู้ใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 54 และเด็กอายุระหว่าง 15-19 ปี คิดเป็นร้อยละ 30.4
จ.พะเยา มีความชุกที่สุดในประเทศไทย และภาคที่มีความชุกที่สุดคือภาคเหนือ โดยถือเป็นจังหวัดที่ดัชนีความเสี่ยงต่อปัญหาแอลกอฮอล์สูงสุดในประเทศไทย ถัดมาคือ จ.ปราจีนบุรี แพร่ พิษณุโลก และเชียงใหม่
ด้วยความเป็นห่วงในสถานการณ์การดื่มของไทย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภา ผู้แทนราษฎร ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชน” เพื่อหาทางยับยั้งการดื่มของเหลวมึนเมาชนิดนี้
งานจัดขึ้นโดยเชิญผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดที่การศึกษาบอกมีผู้ดื่มอัตราสูงที่สุดอย่าง จ.พะเยา เพื่อจะให้เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหา
มุกดา อินต๊ะสาร ตัวแทนผู้นำชุมชนท้องถิ่นหรือภาคประชาชน จ.พะเยา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องที่ชุมชนทุกภาคส่วนในจังหวัดต้องร่วมมือกัน โดยจากการประชุมของสมัชชาและประชาคม จ.พะเยา เห็นว่า เรื่องของแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ต้องจัดการเป็นอันดับแรก โดยจะใช้วิกฤตเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่จูงใจให้ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมมือและช่วยกันลดการดื่มอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะชวนแต่ละหมู่บ้าน ชุมชน มาทำธรรมนูญร่วมในการลดการดื่ม
“วิกฤตเรื่องนี้ทำให้ชาวชุมชนหันมาคุยกันมากขึ้น โดยใช้เวทีกลางของหมู่บ้านในการจัดการเรื่องนี้ ซึ่งเราต้องลุกขึ้นทำเพื่อบ้านเกิดและทำอย่างไรให้บ้านของเรามีปัญหาเรื่องสุราลดลง”มุกดากล่าว และว่า อยากให้เครือข่ายต้านการดื่มแอลกอฮอล์ของจังหวัดพะเยาเข้ามาช่วยชาวบ้านในชุมชนในการแก้ปัญหา
ด้านตัวแทนของประชาชนชาวพะเยา อรุณี ชำนาญยา ประธาน กมธ.เด็กฯ อีกทั้งยังเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยในพื้นที่ด้วย บอกว่า ปัญหาเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่เราพบเจอกันทุกวัน แต่เราไม่ได้ฉุกคิด คนในครอบครัวก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาหรืออนาคตจะนำไปสู่อะไร
พร้อมยกตัวอย่าง วันเกิด วันปีใหม่ มีการดื่มเหล้ากันในครอบครัว ลูกเห็นพ่อแม่ดื่มเหล้า ก็ดื่มตามบ้าง นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
“การรณรงค์ โฆษณา ประชา สัมพันธ์ในเรื่องพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เมื่อมีการโฆษณาเยอะๆ คนก็ให้ความสนใจ แต่เมื่อช่วงไหนที่การโฆษณาเริ่มห่างกัน ปัญหาเรื่องนี้ก็จะกลับมาอีก และควรมีมาตรการทางกฎหมายควบคู่กันไปด้วย อย่างข้อห้ามดื่มเหล้า-เบียร์ บนรถทุกชนิด ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เห็นผล” อรุณีกล่าวอีกทั้งต้องให้ความสำคัญในเรื่องงบประมาณและบุคลากร เพื่อลดจำนวนคนดื่มในพื้นที่เสี่ยง และเป็นการป้องปรามในพื้นที่ที่ไม่เสี่ยงด้วย ซึ่งกลไกชาวบ้านจะมีส่วนสำคัญในการจัดการเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต่างก็มีฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน
ที่สำคัญคือแต่ละคนต้องไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย ชุติมา สิริทิพากุล