แก้จุดเสี่ยง…เปลี่ยนไทยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ

ที่มา: คมชัดลึก


ภาพโดย สสส.


แก้จุดเสี่ยง...เปลี่ยนไทยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ thaihealth


เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานผลการจัดทำรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 4 โดยประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 32.8 ต่อประชากรแสนคน คิดเป็นจำนวน 22,491 คน เฉลี่ยวันละ 60 คน อยู่อันดับที่ 9 ของประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งดีขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 2


แม้การจัดอันดับครั้งล่าสุดดูเหมือนสถานการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจะดี แต่การเสียชีวิตจากภัยบนท้องถนนของไทยเรายังเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย โดยเฉพาะสัดส่วนการเสียชีวิตจากเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก คือ 74.4% นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ปี 2558 จากรายงานการเสียชีวิต 3 ฐานของ กรมควบคุมโรคพบว่าการเสียชีวิตของคนไทยจากภัยบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี คือเพิ่มจาก 19,960 ราย ในปี 2558 เป็น 21,745 ราย ในปี 2559 และเป็น 22,864 ราย ซึ่งแสดงว่าสถานการณ์ของภัยบนท้องถนนของไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประเมินและให้ข้อแนะนำว่าหากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นที่จะต้องเร่งจัดตั้งองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่มีบุคลากรมืออาชีพทำงานเต็มเวลา มีงบประมาณและมีอิสระในการดำเนินงาน เพื่อประสานการดำเนินการและการกำกับติดตามเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นระบบ


อันดับที่ลดลงของประเทศไทยถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนผู้มีส่วนร่วมที่ผ่านมาเริ่มประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเกิดจากความตื่นตัวของภาคประชาชนและสื่อมวลชน จะเห็นว่ามีการนำเสนอข่าวและคลิปอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง จนทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหา และสาเหตุที่สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทยลดลง เนื่องจากว่ามีความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การติดกล้องซีซีทีวีและกล้องตรวจจับความเร็วที่มีเพิ่มมากขึ้นบนถนนทางหลวง ขณะเดียวกันยังพบว่าประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น ทำให้การใช้ความเร็วรถลดลงในบางเส้นทางที่มีกล้องตรวจจับความเร็ว


แก้จุดเสี่ยง...เปลี่ยนไทยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ thaihealth


ทุกครั้งที่เป็นช่วงเทศกาลสำคัญ ก็จะมีการพูดถึงความปลอดภัยบนท้องถนน ทุกภาคส่วนต่างออกมารณรงค์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยวตามต่างจังหวัดหรือเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คาดว่าจะมีการเดินทางกันคับคั่งทุกเส้นทางทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวหลายวันติดต่อกัน


ด้วยเหตุนี้ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้เปิดกิจกรรม "Thailand Big move Road Safety" เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุสู่เส้นทางถนนปลอดภัย โดย สสส. ร่วมกับ สช.และภาคีเครือข่าย ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงพลัง เครือข่ายภาคประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ภาคประชาชนร่วมเป็นกำลังในการช่วยสอดส่องดูแลให้ถนนปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ เริ่มจากการเปิดพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ร่วมแก้ 30 จุดเสี่ยง สร้างถนนปลอดภัย และตั้งเป้าครบ 77 จังหวัด ภายในปีนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขอย่างยั่งยืน สำหรับจังหวัดที่นำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ลพบุรี กาญจนบุรี อุตรดิตถ์ ลำพูน นครพนม ตรัง และ ภูเก็ต


แก้จุดเสี่ยง...เปลี่ยนไทยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ thaihealth


ดร.สุปรีดา อธิบายว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย รวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาและสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในบ้านเรา มีองค์ประกอบหลักสำคัญ 3 อย่าง คือ คน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อม แต่เรื่อง "คน"ดูจะเป็นปัญหาสำคัญ เพราะจากการวิเคราะห์ของทางฝ่ายวิชาการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ โดยล่าสุดปี 2561 มีการออกใบสั่งจำนวน 11,734,415  ใบ และมีจำนวนผู้ชำระค่าปรับเพียง 18% และยังพบว่า คนไทยมีใบสั่งซ้อนสูงสุด 144 ใบใน 1 ปี ซึ่งเป็นรถขนส่งของภาคเอกชน ทำให้เห็นชัดว่าบ้านเรายังต้องทำงานกับเรื่องการปรับพฤติกรรมอีกมาก และในส่วนของ "ถนน" บ้านเรามีถนนที่อยู่ในความดูแลของหลายหน่วยงานซึ่งยังนับว่ามี "จุดเสี่ยง" อยู่มาก ถ้าหากประชาชนได้เข้ามาร่วมชี้จุดเสี่ยง คอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานเจ้าของถนนได้ดำเนินการแก้ไขก็จะช่วยได้มาก เพราะทางวิชาการชี้ว่าองค์ประกอบของสาเหตุอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 27% เกิดจากถนนและสิ่งแวดล้อม


แก้จุดเสี่ยง...เปลี่ยนไทยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ thaihealth


ขณะเดียวกันการจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังมีการถ่ายทอดสดจากจังหวัดนำร่อง ที่แก้จุดเสี่ยงให้กลายเป็นถนนปลอดภัย 4 ภาค 4 จังหวัด คือ ตรัง อุตรดิตถ์ นครพนม และกรุงเทพมหานคร อาทิ ที่ จ.ตรัง พื้นที่ ต.ห้วยยอด ที่ได้รับการปรับปรุงทำทางลอดใต้ทางแยกเป็นจุดกลับรถ ส่วน จ.อุตรดิตถ์ มีการแก้ไขบริเวณแยกหนองบัวที่เกิดอุบัติเหตุมาก ปรับปรุงวางแท่งแบร์ริเออร์บังคับทิศทางรถ และกรุงเทพมหานคร บริเวณแยกหลักสี่ที่เกิดอุบัติเหตุมาก เป็นจุดกลับรถ มีการปรับสัญญาณไฟและปรับสภาพถนน


แก้จุดเสี่ยง...เปลี่ยนไทยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ thaihealth


ด้าน นพ.พลเดช บอกว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับการลดปัญหาอุบัติเหตุมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราต้องวางมาตรการ สร้างโมเดลเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เน้นแนวร่วมจากภาคประชาชน จากภาคีเครือข่าย ดึงท้องถิ่นเข้ามาช่วย ที่ผ่านมาเราได้จัดทำโครงการคนเห็นคน โดยใช้แนวคิดที่ว่า "เปลี่ยนจากคนเกาะรั้วมาเป็นนักแสดง" หรือที่เรียกว่าเปลี่ยนคนดู มาเป็นนักแสดง ทำให้เขาได้เข้ามามีบทบาท คิดวิเคราะห์ เกิดการมีส่วนร่วมประชุมแลกเปลี่ยน หาจุดอ่อนจุดแข็ง และจากจุดเล็กๆ ที่คนกลุ่มนี้เอาใจมาเชื่อมกัน ก็จะกลายเป็นภาพใหญ่ ประสานหน่วยงานที่มีอำนาจนำไปขยายผล เช่น มหาดไทย ปภ. ทางหลวง ตำรวจ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด จึงนำมาสู่โครงการ "Thailand Big move Road Safety"


"คิดแบบบ้าน ๆ เลยก็คือการหาไอเดียของคนในชุมชน ชาวบ้าน ว่าเขาอยากทำอะไร ซึ่งจากคนเล็กคนน้อยนี่แหละ จะสามารถลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหา นำองค์ความรู้ไปขยายผล ต้องชื่นชมให้กำลังใจกัน แม้จะไม่สำเร็จในเร็ว ๆ นี้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ท้าท้าย และได้เห็นพลังของสังคมในการตื่นตัว เริ่มจาก 10 จังหวัด แก้ไขได้ 30 จุดเสี่ยง ขยายไปเรื่อย ๆ ใน 283 อำเภอเสี่ยง และภายในปีนี้คาดว่าจะครบทั้ง 77 จังหวัด จึงอยากเชิญประชาชนมาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยกัน มาร่วมเป็นเครือข่าย Thailand Big Move for Road Safety เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน" นพ.พลเดช กล่าว


นอกจากร่วมกันแจ้งจุดเสี่ยงเพื่อแก้ไขให้เกิดความปลอดภัยบนถนนแล้ว ทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนต้องมีน้ำใจ มีจิตสำนึก มีวินัยในการขับขี่ เคารพกฎจราจร ไม่ประมาท เพราะความปลอดภัยสร้างเองได้จากตัวเรา

Shares:
QR Code :
QR Code