เหล้า บุหรี่ ความผิดใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

         ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือ เทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่อง หลายหน่วยงานต่างออกมารณรงค์ เรื่อง “เมาไม่ขับ” เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ เพราะอุบัติเหตุ บนท้องถนนมักจะมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์

/data/content/19438/cms/cfgijqruvwz6.jpg         พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 บัญญัติขึ้นมาโดยเห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมี ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็น สิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และการหามาตรการป้องกันเด็กและเยาวชน มิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย ก็มีความจำเป็นไม่ ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงมีการกำหนดให้การเข้าถึงการบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์เป็นไปไม่ได้ง่ายเหมือนกับสมัยก่อน ที่หาซื้อ ได้ง่าย เช่น ห้ามขาย-ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในวัด สถานศึกษา สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สวนสาธารณะ โรงงาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือร้านค้าในสถานีน้ำมันเชื้อเพลิง หากฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ หากฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

         นอกจากนี้ยังกำหนดวันและเวลา เช่นห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา หากฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับเวลาที่สามารถจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ คือ เวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. หากมีการจำหน่าย นอกช่วงเวลา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         ทั้งนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับขี่ ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายทั้งต่อผู้ขับขี่เองและผู้โดยสาร หากมีการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถทุกประเภท ถือว่าเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 หากฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้ทุกๆ คนในรถไม่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ สามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างมาก เพราะบางครั้งผู้ขับขี่ไม่ดื่ม แต่ผู้ที่นั่งมาด้วยดื่ม ก็ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิในการขับขี่รถ หรือบางครั้งผู้นั่งมาด้วยก็ยัดเยียดให้ดื่ม

         เมื่อมี การรณรงค์เมาไม่ขับ เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ สิ่งหนึ่ง ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เช่นกัน คือ การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับขี่ หากผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับขี่ ถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400 ถึง 1,000 บาท ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เว้นแต่จะได้ใช้อุปกรณ์เสริม ซึ่งเป็นการบังคับใช้กับรถทุกชนิดทุกประเภทที่วิ่งบนถนนสาธารณะ การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะรถติดสัญญาณจราจรไฟแดงก็มีความผิดเช่นกัน ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยง อุบัติเหตุ หากท่านผู้อ่านที่มีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ควรใช้อุปกรณ์เสริม หรือวิธีเปิดลำโพง หรือควรจอดข้างทางในที่ที่สามารถจอดได้

/data/content/19438/cms/adklostux678.jpg         การสูบบุหรี่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมปอดป่องพอง โรคหัวใจ ภัยของบุหรี่ไม่เพียงแต่ส่งผลร้ายต่อผู้สูบบุหรี่ แต่ยังเป็นภัยเงียบต่อผู้อยู่ใกล้เคียงหรือที่เรียกว่า “บุหรี่มือสอง” ควันบุหรี่เป็นผลต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้อยู่ใกล้เคียง เป็นสาเหตุให้เกิดโรค บางโรค เช่น โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ ได้มีการพิสูจน์และผลออกมาว่า การที่ผู้ไม่สูบบุหรี่ต้องสูดควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบเข้าไปก็เป็นผลเสียต่อสุขภาพของผู้นั้นเช่นเดียวกับที่เกิดกับผู้สูบบุหรี่เอง พ.ร.บ.คุ้มครองของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535  เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ เช่นเดียวกับในหลายประเทศมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไม่สูบ

         สำหรับ การคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้มีการกำหนด (1) เขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด คือ ห้ามสูบบุหรี่ทั้งในและนอกอาคาร สถานที่ หากฝ่าฝืนสูบบุหรี่จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท สถานที่เช่นว่านี้ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น (2) กำหนดเป็นเขตปลอดบุหรี่เฉพาะในอาคาร แต่สามารถจัดเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะนอกพื้นที่อาคารได้ เช่น สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากผู้สูบบุหรี่ฝ่าฝืนไปสูบบุหรี่นอกเขตที่จัดไว้เป็นที่สูบบุหรี่ ก็จะมีโทษปรับ 2,000 บาท (3) จัดให้มีเขตสูบบุหรี่ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เช่น สนามบิน

         พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มีการกำหนดไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงบุหรี่ได้โดยง่าย คือ หากมีการจำหน่าย ขาย แลกเปลี่ยนหรือให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลซึ่งตนรู้ว่าผู้ซื้อหรือผู้รับเป็นผู้มีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ หากฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

         เรื่องเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

 

 

         ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยรุจิระ บุนนาค

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code