เสียงเตือนจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง “หลุมดำ” ถนนสายนักเรียน-นักเลง
ปัญหาอาชญากรรมเด็กในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและน่าตกใจ มีทั้งที่เด็กเป็นผู้ถูกกระทำและอีกหลายคดีที่เด็กเป็นฝ่ายตกเป็นจำเลยผู้กระทำความผิดเสียเอง ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมเมื่อเด็กหรือเยาวชนตกเป็นผู้ต้องหาจะต้องมีการใช้กฎหมายเฉพาะในการพิจารณาคดีโดยศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ซึ่งกระบวนการพิจารณาโทษจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ที่กระทำความผิดในคดีเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่าเด็กหรือเยาวชนเป็นผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะมีโอกาสที่จะกลับตัวเป็นคนดีของสังคมได้ จนบางครั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่าอัตราโทษในการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนเบาเกินไปจนทำให้เด็กไม่เกรงกลัวกฎหมาย
คดีอาชญากรรมที่เด็กตกเป็นจำเลยในการกระทำความผิดเสียเองที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด กรณีหลานของนักแสดงชื่อดังถูกนักเรียนโรงเรียนคู่อริยิงจนเสียชีวิต!!! หากมองย้อนไปปัญหาเด็กนักเรียนตีกันตายไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่เกิดขึ้นมานานและยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีวี่แววว่าจะสามารถยุติปัญหาเด็กนักเรียนตีกันตายได้อย่างไร แม้ก่อนหน้านี้จะมีการยกเลิกเครื่องแบบเสื้อชอปหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นเครื่องบ่งบอกสถาบันก็ตาม บางรายฆ่ากันตายเพียงแค่เรียนอยู่ต่างสถาบันทั้งๆ ที่ไม่เคยมีเรื่องมีราวกันมาก่อนก็มี
วันนี้เราจึงจะขอหยิบยกเรื่องราวของเยาวชนภายใน ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก (สถานพินิจ) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกระทรวงยุติธรรม มาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงพร้อมแสดงทัศนะเกี่ยวกับปัญหาเด็กนักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาทจนนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิต และทำให้พวกเขาต้องมาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษกแห่งนี้เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจเด็กและเยาวชนในสังคม ให้ตระหนักถึงการกระทำที่เกิดขึ้นว่ามีผลร้ายแรงเพียงใด…
ทิชา ณ นคร ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก เปิดโอกาสให้เราได้เข้าสัมภาษณ์เด็กและเยาวชนภายในบ้านกาญจนาภิเษกอย่างใกล้ชิดผ่านทาง “ครูสะอาด” ครูพี่เลี้ยงซึ่งคอยดูแลเด็กและเยาวชนในบ้านกาญจนาภิเษก สถานพินิจเด็กและเยาวชนแห่งเดียวที่ไม่มีกำแพงสูงและลวดสลิงที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าโดยรอบเหมือนสถานพินิจอื่น ที่ป้องกันเด็กและเยาวชนที่ต้องโทษหลบหนี
“เบ็นซ์-หนึ่ง-แชมป์” สามเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่บ้านกาญจนาภิเษกขอถ่ายทอดประสบการณ์ตนเองเพื่อเป็นวิทยาทานให้กับเด็กและเยาวชนในสังคมจะไม่ก้าวพลาดเหมือนตนเอง
“เบ็นซ์” อายุ 21 ปี อดีตเด็กนักศึกษาอาชีวะแห่งหนึ่งย่านปทุมธานี ที่ถูกต้องคดีร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์พิพากษายืนโทษ 2 ปี 6 เดือนคดีถึงที่สุดแล้ว
“ตอนผมถูกจับ ผมพยายามอธิบายให้ตำรวจและนักข่าวเข้าใจว่าผมไม่ได้มีเจตนาทำอะไรรุนแรงในโรงพยาบาลขนาดนั้น ผมยอมรับว่าผมเอามีดฟันนักเรียนคู่อริจริง แต่ผมไม่ได้ยิงนักเรียนโรงเรียนดังกล่าวจนได้รับบาดเจ็บ แล้วไปปาระเบิดใส่ซ้ำในโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครฟังเลย ผมถูกเหมารวมว่าเป็นคนยิง คนปาระเบิด ทั้งที่ไม่ได้ทำ หลังเกิดเหตุตำรวจจับตัวผมและเพื่อนๆ ได้ก็รีบแถลงข่าวจนไม่ได้แยกแยะประเด็นคดีที่เกิดขึ้นว่าใครเป็นคนยิง ใครเป็นคนปาระเบิด ผมยอมรับว่าผมทำร้าย โดยการเอามีดไปฟันนักเรียนโรงเรียนคู่กรณีจริงเพราะรู้สึกว่าเขามาหาเรื่องเราก่อน คิดดูโรงเรียนเขาอยู่รามอินทรา แต่มาปทุมธานี 30 คน หลังข่าวปรากฏออกไปผมตกเป็นจำเลยสังคมทันที ว่าทำไมมีจิตใจโหดร้ายขนาดนั้น โดยไม่มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเลย” เบ็นซ์ระบุ
เบ็นซ์ บอกด้วยว่าปัญหาเด็กนักเรียนตีกันเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักๆ พร้อมเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาที่น่าสนใจคือ 1. โรงเรียนไล่ออกเด็กนักเรียนที่มีปัญหา ตรงนี้อยากฝากไปถึงภาครัฐว่า การยุบโรงเรียนทิ้งหรือการไล่ออกเด็กไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซ้ำร้ายกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้เมื่อไม่ได้เรียนหนังสือก็ยิ่งยากที่จะช่วยพัฒนาให้เขาคิดได้ด้วยตนเอง เมื่อไม่ได้เรียนก็จะมายุยงรุ่นน้องให้ก่อเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า “ถ้าโรงเรียนเลือกที่จะตัดให้เขาเกเร ไม่เปิดโอกาสให้ได้เรียนต่อเขาก็จะเกเรไปตลอด” ซึ่งรุ่นพี่ถือว่ามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมรุ่นน้องเป็นอย่างมาก
2. ค่านิยมผิดๆ ในกลุ่มเด็กช่าง ตรงนี้อยากเตือนสติน้องๆ ที่ยังมีโอกาสได้เรียนหนังสือให้คิดเยอะๆ อย่าให้ใครมาจูงจมูกเราได้ ต้องตีความคำว่า “ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย” ให้ถูกต้อง ที่ผ่านมารุ่นพี่จะปลูกฝังรุ่นน้องเรื่อง “ศักดิ์ศรี” …อย่างไม่ถูกต้อง “ศักดิ์ศรี” ที่แท้จริงแล้วคือ “การทำหน้าที่ลูกให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ และบวชเรียนทดแทนคุณพ่อแม่” ไม่ใช่ไปฆ่าเด็กนักเรียนโรงเรียนอื่นตายแล้วว่าประกาศเป็น “ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย” ผมมาถึงจุดนี้แล้วกว่าจะรู้ว่ามันไร้สาระ
และ 3. ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาแบบตัวใครตัวมัน ขาดตัวตั้งตัวตี อยากให้โรงเรียนมีการนำรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพและรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ชีวิตต้องคดีอาญา มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับรุ่นน้อง ได้เรียนรู้ถึงผลของการกระทำดีและไม่ดีแตกต่างกันอย่างไร รุ่นน้องก็จะเห็นเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น “ถ้ารุ่นพี่ที่รักน้องจริงๆ คงไม่มีใครอยากให้รุ่นน้องตนเองต้องไปฆ่าใครตายเพื่อศักดิ์ศรีสถาบัน แล้วต้องมาติดคุกอย่างแน่นอน”
“หนึ่ง” อายุ 21 ปี อดีตนักศึกษาแผนกวิชาก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่งย่านสามเสน ต้องคดีร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ศาลพิพากษาโทษ 5 ปี คดีถึงที่สุด เล่าว่าตนต้องตกเป็นจำเลยเพราะรักเพื่อน ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้ทำอะไรเลย
“ผมอยากฝากเตือนน้องๆ ว่าสภาพความเป็นอยู่ในสถานพินิจกับที่บ้านมันแตกต่างกันมาก มันลำบากไปหมดไม่ว่าจะกิน จะนอน มีโอกาสเรียนหนังสือให้รักษามันไว้ให้ดี อย่าเข้ามาเลย ผมเชื่อว่าไม่มีใครใหญ่เกินกรรมตนเองครับ เมื่อก่อนผมเป็นคนใจร้อนและรักเพื่อนมาก แต่พอเกิดเรื่องขึ้นก็ทำให้ใจเย็นลงเยอะแต่สำหรับเพื่อนผมยังเต็มที่เหมือนเดิม เรียกว่ามาแตะไม่ได้เลยจริงๆ เพื่อนผม” หนึ่ง ระบุ
ด้าน “แชมป์” อายุ 20 ปี อดีตเด็กนักเรียนอาชีวะแห่งหนึ่งย่านบางกะปิ คดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา คดีถึงที่สุดโทษ ขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี เล่าว่าหากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ทำเป็นอันขาด อย่างกรณีตนต้องการไปยิงนักเรียนโรงเรียนคู่อริ แต่ดันไปโดนเด็กนักเรียนชาย วัย 9 ขวบ เสียชีวิตบนรถเมล์ที่มีกลุ่มนักเรียนคู่อริอยู่ มันเป็นตราบาปที่ทำให้ผมที่ไม่มีวันลบเลือน
ส่วนตัวมองว่าปัญหาเด็กช่างทำร้ายโรงเรียนคู่อริ มันเกิดจากค่านิยมก่อนเลยอันดับแรก เพราะก่อนที่ผมจะตัดสินใจเลือกเดินถนนสายอาชีวะ ผมเห็นเด็กช่างตั้งแต่ผมยังเรียนชั้นมัธยม เห็นเขาพกปืนพกมีด ใส่เสื้อชอปสกรีนประกาศศักดาและความยิ่งใหญ่ มันเห็นแล้วจิตใจมันฮึกเหิมอยากเป็นบ้าง เกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบเพราะผมเชื่อว่า “มันคือความเท่” ซึ่งอยากจะเตือนน้องๆ ว่านั่นคือค่านิยมที่ผิดๆ ขอให้น้องๆ ที่คนที่มีโอกาสเรียนหนังสือตั้งใจศึกษา อย่าเอาชีวิตและอนาคตมาแลกเลยมันไม่คุ้มกับประสบการณ์อันเลวร้ายที่เราจะได้รับ
และนี่คือเสียงเตือนจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องด้วยความปรารถนาดี “อย่าเข้ามาเลย” กู่ดังกังวานมาจากสถานพินิจเด็กบ้านกาญจนาภิเษกที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาภูมิคุ้มกันทางความคิดเด็กและเยาวชนไทยให้ตระหนักถ่องแท้เห็นผลของการกระทำดีกว่าต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง!!!
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ โดย สอนของพ่อ สถิตในดวงใจ