เสียงที่ระทึก โปรดระลึกว่า โลกนี้ไม่มีใคร `พิการ`

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


เสียงที่ระทึก โปรดระลึกว่า โลกนี้ไม่มีใคร 'พิการ' thaihealth


ดูหนัง ทำอาหาร อ่านหนังสือ หรือ ปั่นจักรยานไปเที่ยว ฯ ทั้งหมดคือกิจกรรมที่คนตาบอดก็ทำได้ ขอเพียงเชื่อว่า "ความพิการไม่มีอยู่จริง"


เมื่อผู้พิการทางสายตาร่วมร้อยชีวิตตบเท้าเข้ามานั่งดูหนังในโรงภาพยนตร์ร่วมกันกับคนทั่วๆ ไป ความวุ่นวาย จึงเกิดขึ้นไม่น้อยเลย ใครมากับเพื่อน ก็ให้เพื่อนพามา ใครมาคนเดียว รปภ.  จากข้างล่างก็พามาส่งถึงหน้าโรงฯ จากนั้น สตาฟก็ส่งต่อถึงที่นั่ง ส่วนที่นัดมากัน เป็นแก๊ง ก็มีเพื่อนสายตาเลือนรางนำแถว เดินขบวนเม้าท์มอยกันมาแต่ไกล ไม่ว่าจะเดินทางมาด้วยวิธีการไหน บรรยากาศที่หน้าโรงฯ นอกจากรอยยิ้มตื่นเต้นที่ปรากฏชัด พวกเขายังตระเตรียมหูฟัง และสมาร์ทโฟน เปิดหาแอพพลิเคชั่น ที่ต้องการซักซ้อมวิธีใช้งานเพื่อให้ชัวร์ว่า ถึงเวลาจะได้ไม่พลาด ความอลหม่านยึดพื้นที่ได้เพียงเวลาสั้นๆ เพราะพอหนังใกล้ฉาย คนพร้อม อุปกรณ์พร้อม ความระทึกก็พร้อมที่จะระเบิดขึ้น..


เสียงที่ระทึก โปรดระลึกว่า โลกนี้ไม่มีใคร 'พิการ' thaihealth


เสียง..ที่ระทึก


ที่ผ่านมา แม้จะมีกิจกรรมพาคนตาบอดมาดูหนังอยู่เนืองๆ แต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่ พวกเขา-คนตาบอด สายตาเลือนราง ผู้มีปัญหาทางสายตา รวมถึงคนแก่สายตาฝ้าฟาง จะสามารถเข้ามาดูหนังในรอบปกติ ร่วมกับคนปกติ ได้อย่างในครั้งนี้ "ให้เสียเงินซื้อตั๋วมาดูหนังแล้วไม่รู้เรื่อง ผมก็ไม่รู้จะมาทำไมนะ เสียเวลา แล้วยังเสียเงินด้วย" เสียงหนึ่งให้คำตอบกับ "จุดประกาย" เมื่อถูกถามว่า เคยมาดูหนังในโรงมั้ย?


หลายคนอาจคิดว่า คนตาบอดรวมถึงผู้ที่มีปัญหาทางสายตาแบบอื่นๆ น่าจะสามารถเสพสื่อที่มีเสียงอย่างการดูหนัง ดูทีวีได้ด้วยการฟัง "เสียง" แต่ความจริงก็คือ ถึงแม้พวกเขาจะได้ยินเสียงทั้งบทสนทนาและซาวด์เอฟเฟคต์ต่างๆ แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมด เพราะยังมีใจความสำคัญอีกไม่น้อยที่ถูกบอกเล่าผ่าน "ภาพ" ที่พวกเขามองไม่เห็น


"เมื่อก่อน ผมเคยมองเห็น แล้วตอนไปดูหนังก็จะอินกับหนัง แต่พอตาบอดแล้วก็เหมือนถูกแยกออกไป จะดูหนังแล้วให้คนอื่นมานั่งอธิบายให้ฟัง ก็อาจจะทำให้คนข้างๆ รำคาญได้ ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีที่ผมรู้สึกได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงหนังอีกครั้ง" ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เอ่ยหลังจากได้ร่วมกับเพื่อนๆ คนตาบอดอีกนับร้อยชีวิต ดูภาพยนตร์ "เพื่อน..ที่ระลึก" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระหว่างกิจกรรม "pannanaความระทึกกับเพื่อน..ที่ระลึก" ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า สาขาเซ็นทรัลแกรนด์ พระรามเก้า โดยมีใจความสำคัญ คือ การเปิดตัวแอพพลิเคชั่น Pannana (พรรณนา)


Pannana คือ แอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ผู้มีปัญหาทางสายตาสามารถดูหนังได้เข้าใจเนื้อหาเหมือนกับคนตาดีอย่างเราๆ ด้วยระบบบรรยายภาพด้วยเสียง (AD – Audio Description) โดยแอพฯ จะฟังเสียงที่หนังเล่นอยู่ และประมวลผลว่า เป็นวินาทีที่เท่าไหร่ จากนั้นก็จะดึงเสียงบรรยายภาพ ณ ช่วงเวลานั้นขึ้นมาเล่นให้ตรงกันกับที่หนังกำลังดำเนินไป


สิ่งที่คนตาบอดต้องทำ ก็แค่ ใส่หูฟัง เปิดแอพฯ กดเลือกคอนเทนท์ที่ต้องการ (ใช้ได้เฉพาะคอนเทนท์ที่จอยกับแอพฯ นี้เท่านั้น) กดปุ่มสั่งให้แอพฯ ฟังเสียงที่กำลังฉาย เพียงเท่านี้ ก็จะได้ยินทั้งเสียงในหนัง และบทบรรยายภาพ (AD) เพื่อให้คนตาบอดได้เข้าใจเนื้อหาได้ครบถ้วนขึ้นด้วยตัวเอง ไม่ต้องง้อให้คนอื่นมานั่งอธิบายให้ฟัง "มันเป็นครั้งแรกเลยครับที่ผมได้มาเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ต้องถูกแบ่งแยกในการเสพสื่อต่างๆ อย่างที่ผ่านมา" อีกหนึ่งเสียงจาก "ท๊อฟฟี่" ผู้พิการทางสายตาที่มาร่วมทดสอบระบบในงานดังกล่าว


เสียงที่ระทึก โปรดระลึกว่า โลกนี้ไม่มีใคร 'พิการ' thaihealth


ความพิการไม่มีจริง


จริงๆ ระบบ AD มีในบ้านเรามาได้หลายปีแล้ว แต่ "เพื่อน..ที่ระลึก" คือหนังเรื่องแรกที่ทำ AD และเอาออกใช้กับหนังชนโรง มันจึงเป็นครั้งแรกเช่นกันที่คนตาบอด รวมถึงผู้มีปัญหาทางสายตาอื่นๆ สามารถเดินเข้ามาดูหนังในโรงและในรอบเดียวกันกับคนตาดีได้


นี่ก็คือใจความสำคัญของการไม่แบ่งแยก หรือกันเขาออกไปจากสังคมแค่เพราะความต่างทางร่างกาย เหมือนอย่างที่ ต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ซีอีโอและผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมอย่าง "กล่องดินสอ" บอกถึงความตั้งใจของเขาทั้งการทำแอพฯ ในครั้งนี้รวมถึงสิ่งที่กล่องดินสอทำตลอดมาว่า เกิดขึ้นบนแนวคิดที่ว่า "คนพิการไม่มีอยู่จริง สิ่งแวดล้อมต่างหากที่พิการ และต้องแก้ไข"


จากที่เคยจัดกิจกรรมพาเด็กตาบอดไปดูหนังในรอบพิเศษ โดยบรรยายภาพกันสดๆ ในโรงภาพยนตร์นั้น เขาค้นพบว่า แม้มันจะเป็นกิจกรรมที่ดี แต่ก็ยังดีไม่พอ


"เรารู้สึกว่าการดูหนังมันเป็นความบันเทิงพื้นฐานมากๆ สำหรับเรา แต่เป็นปัญหาสำหรับคนตาบอด ไม่ใช่แค่เรื่องการดูหนังหรอก มันเป็นปัญหาของสื่อภาพทั้งหมดเลย ซึ่ง AD สามารถช่วยได้ แต่เราอยากให้คนตาบอดได้ไปดูสื่อเหมือนกับที่เราดู ได้ดูหนังในโรงหนัง หรือจะซื้อดีวีดีกลับมาเปิดดูที่บ้านพร้อมๆ กับญาติพี่น้องได้ เราไม่อยากจะแยกเขาออกมา ซึ่งเราเชื่อว่า แอพพลิเคชั่นนี้มันตอบโจทย์ได้" เขาเอ่ย


ข้อดีของพรรณนา มีตั้งแต่การเปิดโอกาสให้คนตาบอดสามารถดูหนังได้ทุกที่ทุกเวลา ดูในโรงก็ได้ เปิดจากแผ่นก็ได้ ดูออนไลน์ก็ได้ ข้อที่สอง คือ โรงหนังไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม ขณะที่ในต่างประเทศ โรงหนังจะต้องเป็นผู้จัดหาผู้ฟังที่เปิดเสียง AD ให้กับผู้พิการ


จากไอเดียที่ตกผลึกเมื่อถึงขั้นตอนการลงมือ เขาได้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ซึ่งพอแค่สำหรับการทำแอพฯ แต่ยังไม่พอที่จะผลิต AD ได้เอง เนื่องจากการจะทำ AD ให้กับหนังแต่ละเรื่อง ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง อย่างต่ำก็ครึ่งแสน


ขณะที่ในหลายประเทศ มูฟวี่สตูดิโอจะถูกบังคับโดยกฎหมายให้ต้องทำ AD สำหรับผู้พิการทางสายตาด้วย แต่กับบ้านเรา ทุกอย่างคือ "ความสมัครใจ" อย่าง GDH ที่ทำ AD ให้กับหนังที่ลงแผ่นแล้ว อย่าง พรจากฟ้า, แฟนเดย์, ฟรีแลนซ์, ไอฟาย แต๊งกิ้ว เลิฟยู้ และ คิดถึงวิทยา ก็ต้องหาผู้สนับสนุนด้านงบประมาณร่วมด้วย โดยเรื่องล่าสุดอย่าง เพื่อน..ที่ระลึก ก็ได้เอสเอฟฯ เป็นสปอนเซอร์


มันจึงทำให้จำนวนคอนเทนท์ที่จะมาลงแอพฯ ยังไม่ได้มากมาย เขาคาดการณ์ว่า เมื่อรวมหนัง 6 เรื่องของ GDH ที่ลงแอพฯ แล้ว บวกกับที่กำลังจะเปิดตัวของไทยพีบีเอส และหนังของโมโนฟิล์ม ที่ติดต่อไว้แล้วเรียบร้อย ก็คิดว่า ในปีนี้น่าจะสตาร์ทได้ราวๆ 14-15 เรื่อง ส่วนในเรื่องอื่นๆ จากค่ายอื่นๆ นั้น ต่อยอมรับว่ายังมืดแปดด้านว่า จะหาเงินจากไหนมาทำ


"จริงๆ ที่สมาคมคนตาบอดเขาก็มีหนังที่เป็น AD นะ แต่เอามาใส่ในแอพฯ เราไม่ได้ เพราะของเขาทำอยู่บนกฎหมาย การเข้าถึงสื่อของคนพิการ ที่กำหนดว่า ถ้าทำเพื่อประโยชน์ของคนพิการ ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของสื่อ เช่น ถ้าเราจะอ่านหนังสือเสียงก็ไม่ต้องขออนุญาตแล้ว สามารถทำได้เลย แต่มีเงื่อนไข คือ จะต้องให้ 'เฉพาะคนพิการเข้าถึงเท่านั้น' หมายความว่า ถ้าผมอ่านหนังสือเสียงแล้วโพสต์บนเฟซบุ๊คบอกว่า ให้คนพิการเข้ามาเปิดฟังได้ อันนี้คือผิดกฎหมาย ทำซ้ำ ลอกเลียน ดัดแปลง แต่เราสามารถเข้าไปอ่านผ่านแอพฯ read for the blind อันนี้ทำได้ไม่ผิด เพราะแอพฯ นี้ ทำเพื่อซัพพอร์ตผู้พิการเท่านั้น


สมาคมเองก็อยากให้เราทำระบบล็อกอินเฉพาะคนตาบอดฟังได้เท่านั้น แต่เราไม่อยากล็อก เพราะไหนๆ แอพฯ มันก็เล่นแค่เสียง AD อยู่แล้ว อีกอย่างคือ ไม่ใช่ว่า คนตาบอดทุกคนจะลงทะเบียนกับสมาคม แล้วเราก็อยากให้แอพฯ นี้ มีประโยชน์กับคนจำนวนมากกว่านั้น ตั้งแต่คนตาบอด ไปจนถึงคนแก่ตาฝ้าฟางคนที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น"


นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ Pannana ไม่สามารถนำคอนเทนท์ของสมาคมคนตาบอดมาลงในแอพฯ ได้ "คีย์สำคัญ ของแอพฯ ตัวนี้มันไม่ใช่แค่การดูหนัง แต่มันเป็นการร่วมกิจกรรมพร้อมกันกับคนในสังคมได้" เขาให้เหตุผล


เสียงที่ระทึก โปรดระลึกว่า โลกนี้ไม่มีใคร 'พิการ' thaihealth


ทลายข้อจำกัด


เพราะการทำงานของกล่องดินสอ อยู่บนแนวคิดที่ว่า "คนพิการไม่มีอยู่จริง มีแต่สภาพแวดล้อมที่พิการ" ดังนั้นสิ่งที่พยายามทำ คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคนพิการ ให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้


"เมื่อสิ่งแวดล้อมคือปัญหา เราก็ต้องออกแบบสิ่งแวดล้อมใหม่สิ ออกแบบกิจกรรม ออกแบบโนว์ฮาว ออกแบบเทคโนโลยี ออกแบบอุปกรณ์ ให้คนพิการมาร่วมได้ เราก็เลยทำตั้งแต่เรื่องศิลปะ การเรียน การออกกำลังกาย ความบันเทิง ทำอาหารเราก็ทำ อย่างปีนี้เราก็ไปร่วมกับวิทยาลัยดุสิตธานี ทำกิจกรรมเข้าครัวด้วยกัน เพื่อสอนคนตาบอดทำอาหาร แล้วเราก็ถอดบทเรียนเพื่อออกแบบหลักสูตรสอนคนตาบอดทำอาหารด้วยหม้อหุงข้าวกับไมโครเวฟ โดยเราวางแผนว่า ปีหน้าเราจะเอาโนว์ฮาวที่ได้ไปสอนโรงเรียนสอนทำอาหารอื่นๆ เพื่อให้เขาไปเปิดคอร์สสอนคนตาบอดได้ เพราะมีคนตาบอดจำนวนเยอะมาก ที่อยากจะเรียนทำอาหาร" เขาเล่า


มันจึงเป็นที่มาของกิจกรรมต่างๆ ที่กล่องดินสอจัดขึ้น เช่น วิ่งด้วยกัน ที่ชวนคนตาดีมาจับคู่เป็นบัดดี้วิ่งให้คนตาบอด ไปจนถึงความพยายามที่จะทลายข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตในสังคมของผู้พิการ อย่างล่าสุด ก็คือ การแก้ปัญหาเรื่องจักรยานให้คนตาบอด แน่นอนว่า คนตาบอดขี่จักรยานคนเดียวไม่ได้ แต่พวกเขาทำได้ถ้ามีบัดดี้ และขี่จักรสองตอนไปด้วยกัน..


"ปัญหาคือ จักรยานสองตอนราคาแพง แล้วก็ยากในการขนย้าย ก็เลยคิดว่า ถ้ามีตัวเชื่อม ที่เอาไว้เชื่อมจักรยานธรรมดาสองคัน ให้กลายเป็นจักรยานสองตอน มันจบเลยนะ ก็เลยไปร่วมกับเทคโนฯ บางมด เพื่อออกแบบตัวเชื่อมจักรยานสองคันให้กลายเป็นจักรยานสองตอนโดยที่ไม่ได้มีการดัดแปลงจักรยานหมายความว่า พอใช้เสร็จ ก็ถอดออกกลายเป็นจักรยานสองคันเหมือนเดิม" เขาเล่าถึงอีกหนึ่งโปรเจคที่กำลังทำอยู่ โดยชิ้นงานต้นแบบทดลองใช้ได้ผลค่อนข้างดีแล้ว จึงคาดว่า ตัวเชื่อมที่จะปลดล็อกชีวิตให้คนตาบอดขี่จักรยานได้ง่ายขึ้นนี้ น่าจะได้เห็นอย่างช้าคือ ต้นปีหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code