“เสียงตามสาย” สร้างสุขภาวะชุมชน
ขึ้นชื่อว่า “สื่อ” ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ ล้วนมีทั้งข้อดี ข้อเสีย บริโภคสื่อมากไป เชื่อแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แยกแยะไม่เป็น ถ้าได้ฟังเรื่องดีก็ดีไป ถ้าได้ฟังเรื่องร้ายก็ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ ทั้งเรื่องส่วนตัวและสังคม
ในบรรดาสื่อต่างๆ เรื่องของวิทยุชุมชนนั้นนับว่าใกล้ตัวผู้คนมากที่สุด เพราะเป็นการนำเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในชุมชนมานำเสนอ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่จังหวัดสุรินทร์ ก็ได้มีการนำสื่อวิทยุมาใช้สร้างสุขภาวะให้กับครอบครัว โครงการวิทยุชุมชนเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและครอบครัว จ.สุรินทร์ จัดขึ้นโดยการสนับสนุนของ แผนงานสุขภาวะครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการอบรม “สื่อวิทยุชุมชนอาสาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” ณ ศูนย์ฝึกอบรมมูลนิธิพัฒนาอีสาน
ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาอาสาสมัครให้มีความรู้ความเข้าใจ และเกิดเครือข่ายสื่อวิทยุชุมชนอาสาฯ ที่สามารถบอกเล่าประสบการณ์ของชุมชน ครอบครัว และบุคคลต้นแบบอย่างต่อเนื่อง และใช้กระบวนการสื่อวิทยุชุมชน เพื่อขยายแนวคิดและสร้างกระแสสังคม โดยผนึกกำลังของภาคีเครือข่ายวิทยุชุมชน และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแกนนำของสถานีวิทยุชุมชนต้นแบบ 20 สถานี ครอบคลุม 17 อำเภอ ในจังหวัดสุรินทร์ โดยเน้นการใช้บทเรียนและองค์ความรู้สำคัญของสถาบันครอบครัวเข้มแข็งเป็นเงื่อนไขในการดำเนินงานโครงการ เพื่อให้เกิดการขยายบทเรียนสู่ชุมชนในวงกว้างทั้งจังหวัด
จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาของชุมชน ทำให้เกิดบทเรียนที่สำคัญในการพัฒนาครอบครัวให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ชุมชนสามารถพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนในการพัฒนาสถาบันครอบครัว โดยชุมชนร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ให้สามารถเผชิญกับกระแสสังคมต่างๆ ได้อย่างมั่นคง
หลายชุมชนได้ร่วมพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา สร้างความรัก ความผูกพันให้กับครอบครัวที่กำลังเผชิญปัญหา ลดปมด้อยทางสังคมของเด็กน้อยที่กำลังเติบโต โดยใช้ความสัมพันธ์ในสายเครือญาติในชุมชน ดูแลครอบครัวที่ยังเป็นปัญหา
การพัฒนาครอบครัวอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่การพัฒนาครอบครัวของตนเองให้มีความสุขแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ทุกคนในชุมชนต้องช่วยกันดูแล เผื่อแผ่ความสุขไปสู่ครอบครัวอื่นๆ เพราะทุกคนในชุมชนได้ช่วยกันดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เสมือนครอบครัวใหญ่ที่ทุกคนในชุมชนล้วนเป็นสมาชิกอยู่ในครอบครัวเดียวกัน จะช่วยให้สามารถลดปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ จึงเป็นวิธีการที่สำคัญที่ชุมชนสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านั้น และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัว
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานสถาบันครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่และช่องทางการสื่อสารเพื่อขยายบทเรียนประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงในพื้นที่กับสังคมกว้างขวาง และเพื่อเผยแพร่ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมเรียนรู้และนำประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้กับชุมชนอื่นที่มีความสนใจ จึงจัดทำ “โครงการวิทยุชุมชนเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและครอบครัว จังหวัดสุรินทร์” ขึ้น
เพราะวิทยุชุมชนทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร จากชุมชนหนึ่งไปสู่ชุมชนหนึ่ง ผลิตโดยชุมชนเพื่อชุมชน และเป็นเครือข่ายกลไกที่อาสาสมัครที่ทำงานสื่อสารมวลชนเพื่อสาธารณชน และเป็นเครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและครอบครัวในพื้นที่ต่อไป
คุณธีรศักดิ์ เลี่ยมดี ประธานชมรมวิทยุชุมชนจังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า นอกจากเราจะใช้สื่อวิทยุในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของครอบครัวแล้ว ทางโครงการฯ ยังพัฒนานักจัดรายการจากคนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วม ฝึกให้น้องๆ ที่อยู่ในพื้นที่ หรือชาวบ้านได้มาจัดรายการ เรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆ และเปิดสายให้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ฟังในพื้นที่ ช่วยกันตอบปัญหาเรื่องการทำมาหากิน อาชีพ ศิลปวัฒนธรรม
ที่สำคัญได้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นเวทีสำหรับเยาวชนได้แสดงออก พ่อแม่ ผู้ปกครองมีโอกาสได้ติดตามรับฟัง บางครั้งก็มีพ่อแม่มาร่วมจัดรายการด้วย ทำให้ครอบครัวมีความผูกพันมากขึ้น
นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. เล่าถึงทิศทางการพัฒนาเด็กและครอบครัวกับสื่อสาธารณะว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กเข้มแข็งและป้องกันภัยจากภายนอกได้คือ ครอบครัว เราจึงต้องปกป้องครอบครัวโดยการหยุดความทุกข์ และสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว และพื้นที่ที่จะสามารถนำไปสู่การรับรู้ของครอบครัวคือ สื่อ ซึ่งจะเป็นตัวนำพาความรู้ การเรียนรู้สู่ครอบครัวไทย สื่อมีหน้าที่ในการรวบรวมนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว ตัวอย่างครอบครัวดีๆ นำเสนอให้เป็นแบบอย่างต่อครอบครัวในสังคม เพราะพลังสื่อสามารถเข้าถึงครอบครัวและเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างกว้างขวาง
อย่างที่บอกแล้วว่า การใช้สื่อมีทั้งคุณ ทั้งโทษ แต่ถ้าหากใครมองเห็นการณ์ไกล นำสื่อมาใช้ในด้านบวก สังคมก็จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ อย่างเช่นกรณีตัวอย่างของวิทยุชุมชนสุรินทร์ที่ดำเนินการอยู่นี้
บางแง่มุมจากภาคีบนเส้นทางเดินร่วมกับ สสส.
วันชัย บุญประชา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
การทำงานเรื่องครอบครัว เราไม่สามารถที่จะทำงานด้วยแรงกาย และความรู้ที่มาจากองค์กรเพียงองค์กรเดียวได้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับเครือข่ายของครอบครัวต่างๆ ที่มีเป้าหมายที่จะทำให้ครอบครัวแข็งแรง บวกกับภาคีองค์กรต่างๆ ทั้ง สสส. ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรของภาครัฐเข้ามาร่วมทำงานเรื่องครอบครัว
เพราะงานทุกอย่างต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ ที่จะช่วยกันหนุนเสริมให้เกิดพลังในการผลักดันบางเรื่องที่เป็นประโยชน์กับครอบครัว เช่น การรวมตัวของเครือข่ายพ่อแม่ในการขับเคลื่อนเรื่องเกมออนไลน์ที่มีผลกระทบต่อเด็ก ต้องจับมือกับภาคีที่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เพราะครอบครัวเองไม่มีความรู้โดยตรง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ส่วนที่จะช่วยส่งเสริมทำให้ครอบครัวเข้มแข็งขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update 03-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่