เสริมทักษะเด็กไทยใช้ชูชีพ
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ผลวิจัยพบเด็ก ป.1 เสี่ยงจมน้ำสูงที่สุด เหตุขาดทักษะชีวิตที่จะป้องกันตนเองให้ปลอดภัย แนะ 5 ทางรอด เสริมทักษะให้เด็กไทยใช้ชูชีพ
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยภายหลังการการแถลงข่าวฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำ Stop Drowning Start Doing” ว่า อัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กวัยเรียน อายุ 5-9 ปี ในปี 58 พบว่า มีอัตราการเสียชีวิต 6 ต่อ 100,000 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตในแหล่งน้ำชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ หรือในเส้นทางจากบ้านไปโรงเรียน สาเหตุมาจาก 1.ความรู้เท่าไม่ถึงความเสี่ยงของแหล่งน้ำนั้น และไปเล่นในพื้นที่เสี่ยง เช่น ในแม่น้ำ ลำคลองขนาดใหญ่ กว้าง ลึก มีกระแสน้ำเชี่ยวแรง เล่นน้ำบ่อขุด ไม่รู้ความลึกของน้ำ สระว่ายน้ำที่ไม่มีผู้ใหญ่เฝ้าดูแล รวมทั้งพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำแล้วเกิดพลัดตก และ 2. เด็กขาดทักษะช่วยตนเอง และช่วยผู้อื่นเมื่อตกน้ำ เช่น ว่ายน้ำไม่เป็นและเล่นน้ำโดยไม่คิดว่าเป็นอันตราย ว่ายน้ำคนเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย กระโดดลงไปช่วยเหลือคนตกน้ำจนจมน้ำเอง
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยฯ พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อายุ 6-7 ปี ในโรงเรียนกลุ่มขาดโอกาสและยากจน จัดเป็นกลุ่มวัยเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิต เพราะไม่มีทักษะชีวิตที่จะป้องกันตนเองให้รอดปลอดภัยจากการจมน้ำ และมีนักเรียนเพียง5% ที่สามารถบอกความเสี่ยงที่นำไปสู่การตกน้ำจมน้ำได้ และยังไม่รู้จักและวิธีการใช้เสื้อชูชีพ อีกทั้งหากเห็นเพื่อนตกน้ำกำลังจะจมน้ำ จะพยายามกระโดดไปช่วยด้วยตนเอง โดยไม่รู้จักการร้องขอความช่วยเหลือก่อน ซึ่งถือว่าเด็กขาดทักษะการป้องกันตนเอง และช่วยเหลือตนเองเมื่อตกน้ำ
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สถาบันฯ จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริมสนับสนุน 30 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อดำเนินงานทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ที่เป็นทักษะชีวิต เพื่อให้รอดจากการจมน้ำเสียชีวิตได้ กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยมีการเรียนรู้และสร้างทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 เรื่อง ได้แก่ 1. เรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการจมน้ำ 2. รู้จักอุปกรณ์ความปลอดภัยและใส่เสื้อชูชีพก่อนทุกครั้ง เมื่อเดินทางทางเรือหรือมีกิจกรรมทางน้ำ 3. ไม่กระโดดลงไปช่วยคนตกน้ำ ให้ใช้การตะโกน ยื่นไม้ โยนเชือก 4. ลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 3 นาที เพื่อรอการช่วยเหลือ 5. เคลื่อนตัวหรือว่ายจากท่าลอยตัว เข้าสู่ฝั่งได้อย่างน้อย 15 เมตร โดยคาดว่าจะมีตัวอย่างโรงเรียนที่มีการจัดการความปลอดภัยและรูปแบบการเรียนการสอนเรื่องนี้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตการจมน้ำในกลุ่มอายุ 5-9 ปี ได้รวดเร็วและยั่งยืน