เวิร์กช็อป “ค้นหาความเป็นมนุษย์”

ที่มา : ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟนเพจ We Oneness


เวิร์กช็อป


วีวันเนส (WE ONENESS) หรือโครงการขับเคลื่อนสังคมแห่งการตื่นรู้สู่หนึ่งเดียวกัน โดยมูลนิธิสหธรรมิกชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนเหล่าคนบันเทิงร่วมกิจกรรม Creative Awakening Workshop for Stars and Writers เวิร์กช็อปสร้างแกนนำคนบันเทิงและนักเขียน เพื่อการตื่นรู้ สู่สุขภาวะทางปัญญา


ซึ่งเป็นกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะทางปัญญา ที่สร้างการเรียนรู้ภายในและสุขภาวะทางปัญญาผ่านประสบการณ์จริง โดย วี วันเนส เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญในการสร้างกิจกรรม สร้างพื้นที่และโอกาสในการเรียนรู้ ที่ได้ใช้ทั้งความคิด การสัมผัส และการตระหนักรู้ เพื่อค้นพบความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง


โดยกิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 20 ชีวิต ทั้งดารานักแสดง ผู้จัด ผู้กำกับ และนักเขียน อาทิ แพม-ภัคธภา ฉัตรโกเมศ, ส้ม-พิมพรรณอร ทนเสน, มิเนย์กฤศณัฐฐิกา จูไต๋, ตุ้ม ปาณิสรา วัฒนพฤกษ์, จิ๊บ-จารุภัส ปัทมะศิริ, ดี้-ปัทมา ปานทอง, จิ๋ม-กุณกนิช คุ้มครอง, ก้อย-ทาริกา ธิดาทิตย์, ติ๋ว-อรสา พรหมประทาน, กิ๊ก-มยุริญ ผ่องผุดพันธ์, พรีม-ธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์


ฝน-วรัตม์ชยา มหาขันธ์, กิ๊ฟ-อัญชิสา เลี่ยวไพโรจน์, บูมปิยะวัลย์ วงศ์สว่าง, ป้อม-ชัญญาพัชญ์ ธนโชติสวัสดิพร, ดิพเบญจวรรณ สุวรรณสุขุม, จอย-ชวัลนุช กิจเจริญ, แอ้-เพ็ญลักษณ์ เรืองระเบียบ, ธงธง มกจ๊ก หรือคัชฑาเทพ เอี่ยมศิริ, หน่อง-อรุโณชา ภาณุพันธ์, แหม่มธิติมา สังขพิทักษ์, พิมพ์-พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร, หน่อง-กิ่งเทียน เจริญยัง, จ๋า-สายฤดี รสานนท์, อุ้ม-พรดี สาตราวาหะ, กฤษณ์ มงคลเกษม


ก้อย-ทาริกา ธิดาทิตย์ หรือ แม่ก้อย ที่เคารพของคนในวงการบันเทิง ถึงกับออกปากว่า "ตอนแรกที่ติ๋ว (อรสา พรหมประทาน) ชวนมา ก็คิดว่าเป็นคอร์สปฏิบัติธรรมทั่วไปเหมือนที่ชอบไปกัน แต่ว่ากิจกรรมที่ได้ทำมีความสนุก ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และได้เข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย สำคัญคือ ได้รู้จักและเปิดใจให้น้อง ๆ ในวงการได้เข้าหา" คอร์สพิเศษนี้ออกแบบมาอย่างร่วมสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์การมีสติ รู้ตัว รู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก แล้วเห็นประโยชน์ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาให้แก่ตนเองและสังคม โดยแต่ละกิจกรรมมีความสนุกและไม่น่าเบื่อ


เวิร์กช็อป


ตา-สุรางคณา สุนทรพนาเวศ ดารานักแสดง ในฐานะวิทยากรของโครงการ ผู้ชักชวนเหล่าคนบันเทิงและนักเขียนมาร่วมกิจกรรมนี้ กล่าวว่า "กิจกรรมตลอดทั้ง 2 วัน 1 คืน ถูกออกแบบให้มีการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสวิธีการเจริญสติรู้ตัวในรูปแบบที่เหมาะสมกับในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารอย่างมีสติ การฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง การสำรวจความทุกข์และความสุขภายในตนเอง และการทำกิจกรรมที่สร้างการตระหนักรู้และเข้าใจในความเป็นจริงของกายและใจ รู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกและความคิดของตนเอง ตลอดชีวิตในวงการบันเทิง ตาคิดว่าการให้ธรรมะนี่แหละเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ตาจะตอบแทนกลับไปสู่วงการ และเมื่อคนในวงการมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเองและผู้อื่น ตาเชื่อว่าจะเกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในสังคมอีกมากมาย"


อีกเสียงที่ยืนยันความสนุกของกิจกรรมได้คือ กิ๊ก-มยุริญ ผ่องผุดพันธ์ ซึ่งกล่าวว่า "ในเวิร์กช็อปนี้กิ๊กมองว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะปลุกศรัทธา ปลุกความมีกัลยาณมิตร คือต้องบอกว่าคนที่มาเข้าคอร์สนี้มีหลากหลาย อันนี้กิ๊กถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะว่าสามารถที่จะมอบธรรมะอันเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตในการเข้าใจตนเองและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้อย่างครบถ้วน เป็นอีกหนทางที่ทุกคนจะสามารถช่วยเหลือสังคมได้เลย แม้ไม่ได้ไปเข้าคอร์สธรรมะเข้มข้น สิ่งที่ได้เพิ่มเติมคือมีกัลยาณมิตร ซึ่งเราก็จะจับมือกันเป็นเครือข่ายในการเป็นตัวอย่างของการทำความดีแล้วบอกต่อคนอื่น เป็นกำลังใจให้คนอื่นในการทำความดีร่วมกันไป ถ้าเราในวงการสื่อสารมวลชนมีความเห็นตรงกันว่าเราจะช่วยกันนำพาสังคมไปในทิศทางแห่งความดี เราก็มาปลูกฝังทัศนคติให้ตรงกัน อย่างในเวิร์กช็อปนี้ แล้วจูงมือ จับมือไปด้วยกัน"


เวิร์กช็อป


กิจกรรมครั้งนี้จะพาเหล่าผู้เข้าร่วมมาค้นหาตัวตนและความแตกต่างของตนเอง เพื่อให้มองเห็นคุณค่าของตัวเองในการดำรงอยู่กับผู้อื่นในโลกใบนี้ คนที่ดูจะเข้าใจในตัวเองมากขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรมเห็นจะเป็น คัชฑาเทพ เอี่ยมศิริ หรือ ธงธง มกจ๊ก ที่ได้กลับมาทำความรู้จักกับตัวเองใหม่อีกครั้ง โดยกล่าวว่า "เราได้เห็นในมุมมองที่ว่าตัวเองเป็นคนที่ยอมคน อะไรที่มันไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็จะรับได้ ยอมเป็นผู้ตามมากกว่า หากในจังหวะนั้นเขาต้องการความเป็นผู้นำจากเรา เราก็ให้ได้ กิจกรรมนี้ทำให้รู้สึกถึงเบื้องลึกในใจเรา อาจจะเป็นเพราะเราดูละครเยอะตอนเด็ก ๆ ก็เลยติดมุมของนางเอกมา ทุกครั้งที่มีความรักและอกหัก ร้องไห้หนักมาก เพิ่งมาเห็นในกิจกรรมนี้ว่าในตอนนั้นเรามีความสุขได้อย่างไร ก็เพราะเรายึดนางเอกในละครเป็นแบบอย่างไง แต่เมื่อนึกย้อนไปในขณะที่ร้องให้ เราก็ได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่อยู่ในจิตใจเลยว่าเราเป็นคนยอมคน เป็นคนมีวินัย เป็นคนมีความรับผิดชอบ เป็นผู้นำที่ดีได้ เป็นผู้ตามที่ดีได้ เป็นคนที่แบ่งรับแบ่งสู้ได้ ทั้งหมดมันทำให้เรารู้สึกศรัทธาตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเองว่าตัวเรามีคุณค่า แต่ใครจะเห็นหรือไม่เห็นเราไม่รู้ แต่วันนี้เรารู้ตัวแล้ว จุดยืนของเราเปลี่ยนไปแล้ว รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแล้วนะ เราสามารถภาคภูมิใจในตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องไปไขว่คว้าหาใคร เราอยู่ได้และมีความสุขกับสิ่งที่เป็นจริง ๆ"


เวิร์กช็อป


เมื่อถามว่าถ้าอยากเข้าใจตัวเองและมองเห็นคุณค่าของตัวเองบ้างจะทำได้อย่างไร ธงธง ตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า "ง่ายนิดเดียว ก่อนอื่นคุณต้องสังเกต คุณต้องลองอยู่กับกายกับใจนี้อย่างเป็นคนที่มีสติบริบูรณ์ แล้วสังเกตว่าเวลามีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราแก้ไขสถานการณ์อย่างไร จิตใต้สำนึกตอนนั้นเป็นแบบไหน เพียงแต่ว่ากฎกติกาคือคุณต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเราเป็นคนแบบไหน ถ้าเป็นคนดีก็จงภาคภูมิใจ ในบางมุมที่ไม่ดีนะ เราเห็นแล้วเราจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร การค้นหาตนเองและการเห็นตัวตนของตัวเองมีประโยชน์ อยากให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทิศทางที่ดีและภาคภูมิใจในการเป็นตัวเอง"


ด้าน ดี้-ปัทมา ปานทอง ก็กล่าวถึงสิ่งดี ๆ ที่เธอได้รับจากกิจกรรมครั้งนี้ว่า "มันคือความผูกพันกับเพื่อนใหม่ที่เราไม่เคยคิดว่าภายในเวลา 2 วัน กิจกรรมเหล่านี้มันจะทำให้เราสนิทกันได้เร็ว ดี้พบว่าเราสามารถที่จะเปิดใจให้กับคนที่เราไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนเลย ไม่เคยรู้จักเลยว่าคนนี้เขาคือใคร อยู่ในโลกนี้ด้วยหรือ การได้รู้จักตัวเอง เห็นความเป็นมนุษย์ของตัวเองและผู้อื่น มันนำมาสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน เราสามารถไปสร้างความสัมพันธ์กับใครก็ได้ในโลกใบนี้ ยังมีคนอีกมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากเรา หรือว่าต้องการกำลังใจจากเรา เราก็จะเอาส่วนนี้ไปแบ่งปันให้กับทุกๆ คนรอบตัว"


นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้มีโอกาสรับฟังธรรมบรรยายจาก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ในหัวข้อ การเป็นหนึ่งเดียวกับตนเองอย่างมีคุณค่า และ พระอาจารย์พระอาจารย์สมทบ ปรกฺกโม ในหัวข้อ สังคมอริยชน ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกท่านให้ความสนใจเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีการซักถามถึงข้อธรรมอันลึกซึ้งและเกิดแรงบันดาลใจ


เวิร์กช็อป


โดย ธรากร กมลเปรมปิยะกุล หรือ พงศ์ ครีเอทีฟโครงการวี วันเนส ก็กล่าวปิดท้ายถึงผลลัพธ์อันเป็นเป้าหมายของโครงการนี้ว่า "กิจกรรมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยหลังจากนี้ที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับการดูแลสนับสนุนอย่างใกล้ชิด ในการสร้างสรรค์ผลงาน การแสดง บทละคร งานสื่อสาร และอื่น ๆ ที่สามารถนำวิถีสุขภาวะทางปัญญาเรื่องการตื่นรู้ การตระหนักถึงคุณค่าของการรู้เท่าทันตนเอง รู้เท่าทันสื่อ และการเป็นหนึ่งเดียวกัน ผสมผสานลงไปในผลงานของตนได้อย่างน่าสนใจ มีความร่วมสมัย ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างงานสื่อสุขภาวะทางปัญญาสู่สังคมร่วมกันต่อไป"

Shares:
QR Code :
QR Code