เวที TEP Forum 2019 x ก่อการครู
ที่มา : แฟนเพจโครงการผู้นำแห่งอนาคต Leadership for the Future
ภาพประกอบจากแฟนเพจโครงการผู้นำแห่งอนาคต Leadership for the Future
TEP Forum 2019 x ก่อการครู ก่อการครูร่วมเดินหน้าขยายผลการสร้างภาพใหม่แก่วงการการศึกษาไทย
เวที “TEP Forum 2019 – ภาพใหม่การศึกษาไทย” เป็นงานที่ร่วมกันจัดขึ้นโดย Thailand Education Partnership หรือภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย ในระหว่างวันที่ 8 – 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเหล่าครูแกนนำจากโครงการก่อการครูได้เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนงานนี้ด้วย ผ่านกิจกรรม “TEP Talk – 5 แรงบันดาลใจสร้างสรรค์การศึกษาไทย” และ “กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) แลกเปลี่ยนมุมมองความรู้จากเครือข่าย”
“ครูมิ้นท์ – สุรัสวดี นาคะวะรัง” ครูแนะแนวจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 ได้ขึ้นบนเวที TEP Talk เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ส่งการบ้านช้า ไม่ตั้งใจเรียน และถูกใครหลายคนตราหน้าว่าเป็นเด็กไม่มีความรับผิดชอบ มีความเสี่ยงที่จะเรียนไม่จบ แต่เธอได้รับของขวัญจากครูคนหนึ่ง เป็นคำพูดที่กล่าวว่า “ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่คือของขวัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้” ครูคนนั้นแสดงความเชื่อมั่นว่าเธอสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แล้วเด็กคนนั้นก็ทำได้จริง ๆ เธอสามารถเรียนจบพร้อมกับเพื่อนคนอื่นได้สำเร็จ
เรื่องราวที่ครูมิ้นท์หยิบยกขึ้นมาเล่า คือเรื่องจริงจากชีวิตของตัวเอง ครูมิ้นท์เคยเป็นเด็กนักเรียนคนนั้นที่มีชีวิตมืดมน แต่เพราะของขวัญจากครู เธอจึงสามารถส่องประกายนับตั้งแต่นั้นมา จนวันนี้ที่เธอมาเป็นครูเอง เธอจึงส่งต่อของขวัญแก่สังคมและเด็กคนอื่น ๆ
ก่อน Talk จะจบลง ครูมิ้นท์ได้ชวนครูทุกคนมาร่วมมอบของขวัญแห่งโอกาส ให้เด็กทุกคนได้เติบโตอย่างแตกต่างหลากหลาย รู้จักเรียนรู้ผ่านความผิดพลาด แล้วในวันหนึ่งข้างหน้าพวกเขาอาจกลายเป็นอีกคนที่ส่งต่อของขวัญแก่สังคมและเด็กคนอื่นต่อไป
นอกจากการ Talk สร้างแรงบันดาลใจจากครูมิ้นท์แล้ว ครูแกนนำจากโครงการก่อการครูทั้งรุ่น 1 และ 2 ต่างรวมตัวกันสร้างสรรค์กิจกรรมเวิร์คช็อปถ่ายทอดความรู้ เครื่องมือ และพลังความเชื่อด้านบวก ซึ่งครูผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำไปปรับใช้กับห้องเรียนและชีวิตความเป็นครูได้ โดยในวันนี้เราได้สรุปความน่าสนใจของแต่ละกิจกรรมมาเป็นน้ำจิ้มสั้น ๆ
ตัวอย่างกิจกรรม เช่น “ห้องเรียนประชาธิปไตย สไตล์เด็กหลังห้อง” – ประชาธิปไตยดูจะเป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยในช่วงนี้ แต่สำหรับเหล่าคุณครูจากโครงการก่อการครูที่อดีตเคยเป็นนักเรียนหลังห้องที่เคยผ่านประสบการณ์การไม่ได้รับการรับฟัง พวกเขาจึงมองว่าประชาธิปไตยควรเริ่มในหน่วยที่เล็กที่สุดคือ “ห้องเรียน” และเริ่มด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ “การฟังอย่างเป็นกลาง”
เวิร์คช็อปที่ 2 “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนความเกรี้ยวกราดให้เป็นความอ่อนโยน” – เวิร์คช็อปที่ชวนคุณครูมาเปลี่ยนห้องเรียนที่เด็ก ๆ ไม่อยากเข้าเรียนให้กลายเป็นห้องเรียนแห่งความสุข ด้วยการพาคุณครูผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลับไปสัมผัสประสบการณ์วัยเด็กที่ต้องเจอกับ “ครูเกรี้ยวกราด” และ “ครูอ่อนโยน” โดยกระบวนกรได้สวมบทบาทเป็นครูแต่ละแบบ และสมมติให้ผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนในห้องเรียน เพื่อสัมผัสประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เวิร์คช็อป ที่ 3 “ครูแท้อะ…แพ้เป็น: เรียนรู้การฟังอย่างลึกซึ้ง” – เวิร์คช็อปที่มีเป้าหมายเพื่อฝึกทักษะการฟังและการเป็นผู้ฟังที่ดี ทั้งการฟังเพื่อน ฟังคนอื่น และฟังตัวเอง โดยชวนผู้เข้าร่วมเรียนรู้เรื่องหลักการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ที่ช่วยให้สามารถจับเรื่องราว หาความรู้สึก ความคิด และความต้องการของผู้พูดได้ ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดดี ๆ ที่จะสร้างสรรค์การเรียนการสอนร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน หรือครูกับครู
นอกจากการเผยแพร่ศักยภาพของเหล่าครูแกนนำในโครงการก่อการครู ทางโครงการได้มีโอกาสขึ้นนำเสนอแนวคิดบนเวทีกลาง ต่อผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เข้าร่วมงานทุกคนในช่วง “TEP Market place – ร่วมเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมอง ต่อยอดความรู้จากเครือข่าย”
โดย “พี่ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตร” จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการก่อการครู ได้เล่าถึงแนวคิด กระบวนการทำงาน และภาพฝัน ที่ชาวก่อการครูจะช่วยกันขับเคลื่อนการทำงานไปให้ถึงการเป็น “ก่อการครู Academy” องค์กรพัฒนาครูจากความต้องการของครูอย่างแท้จริง โดยมีการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการเพื่อสังคม มี Node ในพื้นที่ทำงานเป็นก่อการครูจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันเริ่มขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ นอกจากนั้นยังเตรียมที่จะดำเนินการจัดทำชุดกระบวนการ งานวิจัย การสื่อสารสังคม การนำเสนอข้อเสนอทางสังคม และ School Lab ที่จะเปลี่ยนโรงเรียนสัก 3 – 4 แห่งเป็น School Lab ภายในปี 1 – 2 ปีข้างหน้า
พี่ก๋วยทิ้งท้ายว่า สิ่งหนึ่งที่ทางโครงการก่อการครูย้ำกับคุณครูอยู่เสมอ คือ โครงการก่อการครูไม่ใช่โครงการฝึกอบรมพัฒนาครู แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ “ก่อการโดยครูเพื่อครู” เพื่อให้ผลสำเร็จไปเกิดการเปลี่ยนแปลงกับนักเรียนของครูทุกคน และหวังว่าจะเป็นหนึ่งในขบวนการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย
การได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเวที TEP Forum 2019 ภาพใหม่การศึกษาไทยในครั้งนี้ ทำให้เหล่าคุณครูจากโครงการได้พื้นที่ฝึกฝนเครื่องมือและกระบวนการเวิร์คช็อป ขณะเดียวกันก็ได้แลกเปลี่ยนเครื่องมือการจัดการชั้นเรียน และความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาจากบุคลากรทางการศึกษาต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานด้วย ซึ่งทำให้เห็นว่า การพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทยเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและความเป็นไปได้ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ