เวทีศิลป์เสวนา ปั้นพื้นที่ดิจิตอล
นักเขียน – นักอ่านเตรียมเฮ เวทีศิลป์เสวนาครั้งที่ 2 ระดมความคิดมุ่งปั้นพื้นที่ดิจิตอลเอาใจคอหนังสือ
แฟ้มภาพ
เมื่อปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จัดเวทีศิลป์เสวนาครั้งที่ 2 เรื่องพื้นที่ดิจิตอล พื้นที่สร้างสรรค์พัฒนางานเขียนคุณภาพเพื่อคุณภาพนักอ่านในเด็กและเยาวชน มีผู้เข้าร่วมประชุมอาทิ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กรรมการสมาคมการ์ตูนไทย นักออกแบบเว็บไซต์ นักวิชาการ www.gotoknow.org นักออกแบบคาแรกเตอร์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 ร่วมระดมความคิดเพื่อสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับนักอ่าน-นักเขียนบนโลกออนไลน์
ก่อนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผศ.เสาวณีย์ ฉัตรแก้วและคณะ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้นำเสนอผลการศึกษาแนวทางการจัดทำห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-library) สำหรับเด็กและเยาวชน โดยชี้แจงวัตถุประสงค์ของการวิจัยว่า 1. เพื่อศึกษาถึงรูปแบบการจัดทำห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ 2. เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ของไทยและต่างประเทศ 3. เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งเสริมพฤติกรรมการอ่านของเด็กและเยาวชนไทย และเป็นแนวทางการสร้างเสริมผลงานเขียนที่มีคุณภาพ (วรรณกรรม การ์ตูน ฯลฯ) โดยเปรียบเทียบเว็บไซต์ภาษาต่างประเทศและเว็บไซต์ภาษาไทยดังนี้ 1. eBooks มีจำนวนมาก เนื้อหาหลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน จัดหมวดหมู่หนังสือให้เหมาะกับเด็ก มุ่งเปิดโลกทัศน์ผ่านหนังสือภาษาต่างๆ 2. ให้ความสำคัญกับผู้พิการทางสายตา โดยเผยแพร่หนังสือเสียงหรือ audiobooks 3. จัดทำห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ “เสมือนจริง” (มีกำหนดวันยืม-คืน) 4. มีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง 5. เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดและวิพากษ์วิจารณ์หนังสือในหมู่ผู้รักการอ่าน 6. จัดการพื้นที่เพื่อซักถามหรือพูดคุยกับบรรณารักษ์ 7. ระบุช่องทางที่ผู้อ่านจะสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ไว้อย่างชัดเจน
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า “เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นใหม่กับพื้นที่ดิจิตอลซึ่งนับวันยิ่งมีความหมายกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น การแสวงหาความรู้ผ่านโลกออนไลน์นับวันก็ยิ่งมากขึ้น ทำอย่างไรให้พื้นที่นี้ได้รองรับงานเขียนดีๆ งานวรรณกรรมดีๆ ได้ทำหน้าที่รองรับจิตใจของผู้อ่าน ขณะเดียวกัน อาจเป็นพื้นที่สร้างงานคุณภาพได้ด้วย ขอให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ทุกหน่วยงานได้ร่วมมือพัฒนาให้เกิดขึ้น”
ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เสริมว่า “ตอนนี้พื้นที่การอ่านไม่ได้จำกัดแค่ในหนังสือเล่ม แต่ได้ขยายไปสู่โลกออนไลน์ ซึ่งเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ก็เริ่มอ่านจากกระดาษน้อยลง”
นางชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 ให้ความเห็นว่า “ถ้าจะตั้งห้องสมุดออนไลน์ขึ้น ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ต่างจากสิ่งที่คนอื่นทำอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนได้อ่านหนังสือที่ดี ควรแบ่งกลุ่มหนังสือเป็นหมวด กลุ่มแรก คัดสรรจากงานคลาสสิกของไทย เล่มไหนที่เด็กชอบ กลุ่มที่สองคือกลุ่มร่วมสมัย คัดงานเขียนร่วมสมัยดีๆ ซึ่งเราต้องลงทุนจ่ายค่าลิขสิทธิ์ เพื่อให้เด็กมีโอกาสอ่านหนังสือดี และกลุ่มที่สามเป็นการสนับสนุนมือใหม่ พร้อมกับทำกิจกรรมเพื่อให้เป็นประเด็นสนใจสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง”
นายพิเชษฐ์ ยิ้มถิ่น เลขาธิการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ประสบปัญหาเรื่องการขายหนังสือ และพื้นที่ดิจิตอลที่ร่วมระดมความเห็นกันอยู่นี้สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ “อย่างสำนักพิมพ์สารคดีมีนักเขียนที่มีงานดีๆ เยอะ แต่สำนักพิมพ์ไม่กล้าพิมพ์ เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดลดลง และมีนักเขียนที่รอการพิมพ์อีกมากในสำนักพิมพ์อื่นๆ ด้วย ตรงนี้เราจึงสามารถรวบรวมนักเขียนหน้าใหม่ที่ผลงานผ่านการพิจารณา แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ ถ้าเว็บเรารวมตรงนี้ได้ ก็จะกลายเป็นพื้นที่รวบรวมหนังสือที่ดีและแตกต่างจากเว็บหรือพื้นที่ดิจิตอลอื่นได้”
การเติบโตทางความคิด ถือเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาวะทางปัญญา มนุษย์ใช่ว่าจะแข็งแรงเพียงร่างกาย แต่ต้องมีความคิดที่ดีด้วย เวทีศิลป์เสวนาในครั้งนี้เกิดประเด็นและองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการนำมาต่อเติมสร้างสรรค์พื้นที่ดิจิตอล เพื่อเป็นพื้นที่ในการเขียน อ่าน วิจารณ์ และสนทนา เป็นแหล่งบำรุงปัญหา เป็นอีกหนึ่งทางเลือกบนโลกดิจิตอลที่มากล้นด้วยข้อมูล จนบางครั้งแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังยากจะคัดกรองว่า สิ่งใดส่งผลดีหรือร้ายต่อสุขภาวะของบุตรหลาน
ที่มา: แผนสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน