เล่านิทานในความเงียบพัฒนาภาษามือ-สร้างจินตนาการให้เด็กพิการ
“เราอยากให้เขาเกิดภาคภูมิใจในความเป็นคนหูหนวก ที่มีภาษาวัฒนธรรมไม่ต่างจากภาษาอื่นในโลก เท่าเทียมกัน ถ้าเขาภาคภูมิใจในตัวเอง เขาก็จะภูมิใจในสิ่งที่เขาอยากเป็น คนเราถ้ามีความภูมิใจในตัวเอง เขาอยากจะเป็นอะไรก็ได้ในสิ่งที่เขาอยากเป็น นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในตัวเขา แต่ก่อนเขาไม่เคยรู้อะไรทั้งสิ้น นอกจากที่คนหูดีอยากให้เขารู้”
“ภายใต้ความเงียบเฉย เราอยากรู้ว่าเขาจะแสดงอะไรออกมา และเมื่อถึงเวลาเขาจะเปล่งเสียง เขาจะพูดออกมาโดยธรรมชาติ เมื่อพร้อมเขาอยากรู้ว่าเสียงของเขาจะเป็นอย่างไร”
ดร.สุพิน นายอง หัวหน้าภาควิชาหูหนวกศึกษาวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงจินตนาการภายใต้ความเงียบผ่านภาษามือ ของเด็กพิการทางได้ยิน
“ภาษามือ” เป็นภาษาหนึ่งที่มีโครงสร้างทางภาษาและไวยากรณ์เป็นของตนเอง เช่นเดียวกับภาษาอื่นๆ ภาษามือเป็นภาษาแรกหรือภาษาที่หนึ่งของคนหูหนวก เป็นภาษาที่ใช้ในชุมชนคนหูหนวก ซึ่งคนหูหนวกใช้ภาษามือในการแสดงความคิด ความรู้สึก การรับรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ
“ภาษามือเป็นภาษาที่มีความสำคัญกับคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมาก เนื่องจากภาษามือเป็นภาษาที่คนหูหนวกใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็ใช้ภาษามือที่มีความต่างกันออกไป ดังนั้น เพื่อพัฒนาให้ภาษามือซึ่งใช้ในการสื่อสาร มีความเป็นเอกภาพ รวมถึงพัฒนาทักษะการใช้ภาษามือไทย ซึ่งเป็นภาษาที่สองของเด็กพิการทางการได้ยิน มูลนิธิราชสุดา ร่วมกับวิทยาลัยราชสุดามหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องริเริ่มให้เกิด “โครงการประกวดเล่าเรื่องด้วยภาษามือไทยสำหรับเยาวชนผู้พิการทางการได้ยิน” ขึ้น โดยมี อ.จิตประภา ศรีอ่อน เป็นคนต้นคิด อ.พฤหัส ศุภจรรยา ผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาหูหนวกศึกษา วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าผ่านนายศักดิ์ดา โกมลสิงห์ล่ามภาษามือ
อ.จิตประภา ศรีอ่อน อ.พฤหัส ศุภจรรยา
รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศให้ “ภาษามือไทย” เป็นภาษามือประจำชาติของคนหูหนวกไทยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2542 และออกประกาศให้ “ภาษาไทย(มือ)” เป็นวิชาบังคับสำหรับโรงเรียนสอนคนหูหนวกตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเป็นวิชาเลือกในหมวดวิชาต่างประเทศสำหรับโรงเรียนทั่วไปในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
โครงการ “ประกวดเล่าเรื่องด้วยภาษามือ” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2544 และจัดต่อเนื่องกันมาทุกปี จนถึงปี 2551 ได้ปรับชื่อเป็นโครงการ “ประกวดเล่าเรื่องด้วยภาษามือสำหรับเยาวชนผู้พิการทางการได้ยิน” ในการประกวดครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นครั้งที่สำคัญยิ่ง เพราะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานถ้วยรางวัล(ถาวร)การประกวดการเล่าเรื่องด้วยภาษามือไทยสำหรับเยาวชนผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อมอบให้แก่โรงเรียนที่ได้รับรางวัลคะแนนรวมสูงสุด โดยจะเป็นถ้วยรางวัลหมุนเวียนที่ผู้ชนะสามารถนำไปครองเป็นเวลา 1 ปี
อาจารย์พฤหัส เล่าผ่านล่ามว่า ในการจัดการแข่งขันขึ้นในครั้งแรกๆ นั้นมีการตอบรับจากโรงเรียนโสตเพียง 10 แห่งทั่วประเทศ แต่เมื่อมีการจัดการประกวดขึ้นทุกปีๆความสนใจของโรงเรียนและผู้เข้าร่วมชมการแข่งขันก็เพิ่มมากขึ้น โดยในปีที่ 10 มีโรงเรียนกว่า 30 แห่งเข้าร่วม โดยมีนักเรียนที่พิการทางการได้ยินเข้าร่วมกว่า 600 คน ซึ่งในแต่ละปีจะจัดงานในช่วงเดือนมกราคมหรือเดือนกุมภาพันธ์ทั้งนี้ภายในงานจะมีกิจกรรม เล่าเรื่องด้วยภาษามือไทยจากภาพที่กำหนด ตอบคำถามจากการดูเรื่องเล่าภาษามือไทยบอกคำศัพท์และเล่าเรื่องจากท่ามือที่กำหนดให้ เล่าเรื่องด้วยภาษามือไทยจากเรื่องที่กำหนด และเพลงภาษามือไทยโดยกิจกรรมทั้งหมดจะจัดภายใน 1 วันเท่านั้น
อาจารย์พฤหัส เล่าผ่านล่ามต่อว่า เป้าหมายหลักของการจัดโครงการคือ ต้องการให้เด็กๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินเกิดความภูมิใจในการใช้ภาษามือ และเพื่อสร้างความเข้าใจของคนในสังคม เนื่องจากคนทั่วไปยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของภาษามือ จึงอยากให้สังคมเปิดโอกาส ยอมรับภาษามือว่าเป็นภาษาที่สามารถสื่อสารได้ไม่อยากให้เห็นว่าการใช้ชีวิตคนหูหนวกนั้นมีปัญหาอุปสรรคอยากให้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนหูหนวก อยากให้รู้ว่าภาษามือก็มีความเทียบเท่ากับภาษามืออื่นๆ ที่มีอยู่ในโลก
“หลังร่วมกิจกรรมเด็กๆ จะได้เรียนรู้ และพัฒนาทักษะความสามารถ แม้ในช่วงแรกๆ เด็กที่เข้าร่วมอาจจะตื่นเต้นแต่เมื่อได้มาครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 เขาจะกล้าแสดงออกมากขึ้นอย่างการเล่านิทาน เขาก็จะรู้จักใช้สีหน้า ใช้ภาษามือไทยได้คล่องมากขึ้น รู้จักองค์ประกอบของท่ามือ การวางรูปมือเมื่อครูที่อยู่โรงเรียนมาเห็นการแสดงของโรงเรียนอื่นๆ ครูก็จะนำไปปรับใช้กับการแสดงของโรงเรียนเขาให้ดีขึ้น ผ่านมา10 ปีแล้วสำหรับโครงการ ผมรู้สึกภูมิใจมากที่เห็นเด็กหูหนวกมีการพัฒนาความสามารถมากขึ้น ทำให้เขาอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข เรื่องที่ไม่รู้เขาก็รู้ และอยากให้เด็กได้มีการพัฒนาความรู้นี้อย่างไม่หยุดยั้ง เพราะไม่ว่าคนที่ได้ยิน หรือหูหนวกก็คือคนเหมือนกัน” นายพฤหัสเล่าผ่านล่าม
ด้าน ดร.สุพิน หนึ่งในคณะทำงานของโครงการ เล่าว่า วัตถุประสงค์สำคัญของการเล่าเรื่องด้วยภาษามือไทยคือ ต้องการถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนหูหนวกจากคนรุ่นหนึ่ง ไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เมื่อเด็กเล็กๆ ได้มาเห็นรุ่นพี่ที่เป็นคนหูหนวกเขาเล่านิทานอยู่ เด็กๆ น้องหูหนวกก็จะจำเอาแล้วเอาไปปรับใช้ในโรงเรียนของเขาพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กได้เติมเต็มในเรื่องภาษา ความคิด จินตนาการ ที่ขาดหายไปในช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ที่ไม่เคยฟังนิทาน นิยาย เพราะพ่อ-แม่ไม่สามารถถ่ายทอดการเล่านิทานให้เขาฟังได้ นี่จึงเป็นโอกาสให้เขาได้เห็นจินตนาการ และยังสามารถสอนจริยธรรมคุณธรรม ให้เขาได้ผ่านการเล่าเรื่อง
“เราอยากให้เด็กเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการแสดงออก จนกระทั่งเกิดการใช้ภาษามือไทยในระดับสูง โดยสามารถดัดแปลงภาษามือ เป็นสำนวนโคลง กลอน เพื่อพัฒนาภาษาที่สองเขาคือ ภาษาไทย ทำให้เขาสามารถอ่านออกเขียนได้ 2 ภาษา 2 วัฒนธรรม เมื่อภาษาที่หนึ่งเต็มก็จะสามารถเป็นเครื่องมือในการเรียนภาษาที่สอง นำมาซึ่งการทำงานร่วมมือ สร้างความเข้าใจกันในเรื่องวิถีชีวิตทั้งคนหูดี คนหนวก อย่างเพลงชาติที่ร้องเป็นภาษามือไทย ที่คนหูดีร้องๆ กัน คนหูหนวกไม่รู้ความหมาย แต่เมื่อเขาได้ร้องเพลงที่แปลเป็นภาษามือของเขาแล้ว เด็กๆ บอกว่า นี่หรือเพลงชาติ ที่ทุกคนยืนตรงพอเขาเข้าใจ เขาบอกขนเขาลุกหมดเลย” ดร.สุพิน กล่าว
ขณะที่อุปสรรคที่พบเจอทั้งดร.สุพิน และอาจารย์พฤหัส กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถพาเด็กทุกคนมาชมการประกวดได้ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงต้องการให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องการศึกษาโดยตรง ให้ความสนใจในการศึกษาของเด็กพิการทางการได้ยินด้วย และถึงแม้จะมีผู้เสนอว่าทำไมไม่จัดเวทีแต่ละภาคก่อนแล้วค่อยนำเด็กๆ มาแข่งขันกันในภาคกลาง ดร.สุพิน มองว่า ประเด็นนั้น ไม่ใช่เป้าหมายที่คณะทำงานต้องการ เนื่องจากสาเหตุที่เรานำเด็กมาแข่งขันกันที่กทม.เพราะต้องการให้เด็กที่อยู่ภาคใต้ เห็นผลงานของเด็กที่อยู่ภาคเหนือ เด็กภาคอีสานเห็นผลงานของเด็กภาคใต้ เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เห็นในสิ่งแตกต่างที่เกิดขึ้นจากคนละมุม จนเกิดเป็นความหลากหลาย เกิดภาพจินตนาการให้เด็กมากที่สุด เราไม่ต้องการให้คนเก่งมาแข่งกัน
“ในแง่ประสบความสำเร็จนั้น สำเร็จมาก เพราะเด็กๆเขารอวันนี้ ที่มีการแข่งขัน เขาอยากรู้เรื่องการเล่านิทาน อยากรู้ว่าคนหูดีเล่านิทานเขาเล่ายังไง อยากเห็นเพื่อนๆ ร้องเพลงและเขารู้ว่าเขาก็ร้องเพลงได้ เราอยากให้เขาเกิดภาคภูมิใจในความเป็นคนหูหนวก ที่มีภาษาวัฒนธรรมไม่ต่างจากภาษาอื่นในโลก เท่าเทียมกัน ถ้าเขาภาคภูมิใจในตัวเองเขาก็จะภูมิใจในสิ่งที่เขาอยากเป็น คนเราถ้ามีความภูมิใจในตัวเอง เขาอยากจะเป็นอะไรก็ได้ในสิ่งที่เขาอยากเป็นนี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในตัวเขา แต่ก่อนเขาไม่เคยรู้อะไรทั้งสิ้น นอกจากที่คนหูดีอยากให้เขารู้” ดร.สุพิน กล่าว
“เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า” เด็กพิการทางการได้ยินก็เช่นเดียวกัน หากเขาได้รับโอกาสให้เปิดโลกแห่งจินตนาการที่ไม่มีวันสิ้นสุดนี้ จนเกิดความพรั่งพรูในความคิด เมื่อเติบใหญ่เขาก็มอบสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้กับน้องๆ รุ่นต่อไปเช่นเดียวกัน…
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า