เลิกนิสัยติดเค็ม… เริ่มวันนี้ สุขภาพดีลดโรค
“รสเค็ม” เป็นอีกหนึ่งรสชาติที่หลายคนชื่นชอบ ทั้งที่ต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่าความเค็มที่มากเกินไปจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพแต่คนไทยก็ยังคงบริโภคความเค็มที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะล่าสุดจากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือหรือโซเดียมมากเกินที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า
ด้วยเหตุนี้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยจึงจับมือกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ที่ประกอบด้วยหลายหน่วยงาน เปิดตัวโครงการรณรงค์ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค” ภายใต้ “โครงการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในประเทศไทย” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยลดการบริโภคอาหารที่มีรสชาติเค็มให้น้อยลง
นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า การบริโภคเกลือในปริมาณที่มาก ในการปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็ม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากมาย จากสถิติปี 2554 พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 11.5 ล้านคน หรือร้อยละ 21.4 เป็นโรคไตจำนวน 7.6 ล้านคนหรือร้อยละ 17.5 เป็นโรคหัวใจขาดเลือดจำนวน 0.75 ล้านคนหรือร้อยละ1.4 โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 0.5 ล้านคนหรือร้อยละ 1.1 ของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่าโรคหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตทั้งหมดของประเทศ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการ รับประทานอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูงเป็นประจำ และจากการสำรวจยังพบอีกว่าคนไทยบริโภคเกลือเกินค่าเฉลี่ยที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า คือ 10.8 กรัม ทั้งที่ในหนึ่งวันควรบริโภคเพียงไม่เกินวันละ 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชาเท่านั้น
“การทานอาหารที่มีรสเค็มจัด ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังส่งผลเสียโดยตรงต่อไต ทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเสี่ยงโรคมากมาย”รองปลัดสธ.อธิบาย
เมื่อการรับประทานเค็มในปริมาณที่มากส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมายขนาดนี้ แต่คนไทยก็ยังคงต้องมีโซเดียมอยู่รอบตัว โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม บอกว่า พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในปัจจุบันวนเวียนอยู่กับความเค็ม เพราะร้อยละ 30 นิยมซื้ออาหารนอกบ้านมารับประทานทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงาน นักศึกษาและ ร้อยละ 70 ซื้ออาหารกลางวันนอกบ้านมาทานไม่ว่าจะเป็นข้าวราดแกง อาหารจานเดียว ตามสั่งหรือก๋วยเตี๋ยว โดยความเค็มนั้นเริ่มมาตั้งแต่คนทำอาหารอย่างแม่ค้าที่รายล้อมไปด้วยเครื่องปรุงที่มีโซเดียม ทั้งน้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส เป็นต้น อีกทั้งเมื่อเสร็จใส่ภาชนะบรรจุก็มียังคงมีน้ำปลาพริก แม้กระทั้งการรับประทานผลไม้ก็ต้องจิ้มพริกกับเกลือ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเวลาออกกำลังกายหรือทำงานเหนื่อยๆ ก็ดื่มเกลือแร่อีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่คนไทยทำจนติดเป็นนิสัย
“โดยปกติแล้วอาหารตามธรรมชาตินั้นก็จะมีเกลือเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว เมื่อมีการเติมเครื่องปรุง รสชาติมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ปริมาณโซเดียมก็จะสูงตามไปด้วย โดยผลิตภัณฑ์ที่ครัวเรือนไทยนิยมใช้กันนั้นส่วนมากก็จะเป็น น้ำปลา ซึ่ง 1 ช้อนโต๊ะก็จะมีปริมาณโซเดียมถึง 1,420 มก. ซีอิ้ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960-1420 มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม และเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัมเลยทีเดียว”ประธานเครือข่ายฯ กล่าว
ดังนั้น เราจึงควรหันมาใส่ใจสุขภาพด้วยการลดความเค็มลง สำหรับผู้ที่ติดรับประทานเค็มไปแล้ว ประธานเครือข่ายฯ แนะนำว่า การจะห้ามกินเค็มเลยคงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ติด จึงจำเป็นต้องใช้วิธีลดปริมาณความเค็มลงวันละนิด เพื่อปรับการรับรู้ของลิ้น กว่าจะลดถึง 50% ที่เราตั้งไว้อาจต้องใช้ระยะเวลา
“เมื่อการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ที่รับประทานเค็มมันไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงต้องร่วมมือกันสร้างค่านิยมใหม่ให้แก่ผู้บริโภค หากประชาชนกินเค็มน้อยลงผู้ประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป หรือขนมขบ ก็จะมีความตื่นตัว ผลิตอาหารที่มีความเค็มน้อยลงตามความต้องการของผู้บริโภค” ประธานเครือข่ายฯ กล่าว
แต่สุดท้ายทางที่ดีที่สุด หากเราหลีกเลี่ยงการใช้เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส เลี้ยงการเติมเครื่องปรุงในอาหารที่ทาน เลี่ยงอาหารดองเค็ม เช่น แหนม ไข่เค็ม ปลาเค็ม เลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติ เช่น แกงส้ม ต้มยำ เพื่อทดแทนรสชาติเค็ม น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ควรรับประทานแต่น้อยหรือเทน้ำซุปออกบางส่วนแล้วเติมน้ำเพื่อเจือจางลง และสังเกตปริมาณโซเดียมที่ฉลากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งอาหารสำเร็จรูป และขนมถุงก่อนรับประทาน
ความเคยชินในการรับประทานอาหารรสเค็มจัดของคนไทยปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ หากค่อยๆ ลดความเค็มทีละน้อย จะทำให้เกิดความเคยชิน แล้วลิ้นของเราก็จะไม่โหยหารสเค็มอีกต่อไป เราจึงควรสร้างนิสัยการรับประทานอาหารอ่อนเค็มตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีตามมาด้วยชีวิตที่เป็นสุขปราศจากโรคภัย ตามสโลแกน “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค”
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th