เร่งแก้ไขจุด ‘เสี่ยง’ บนถนน แก้อุบัติเหตุ

ที่มา : เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก


ภาพปรพกอบจากเว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก


เร่งแก้ไขจุด 'เสี่ยง' บนถนน แก้อุบัติเหตุ thaihealth


การประชุมโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พร้อมด้วยตัวแทนนักศึกษา หน่วยงานต่างๆ และตัวแทนเหยื่อเมาแล้วขับ ร่วมเข้าแลกเปลี่ยนการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย บนเวที Big talk 3


รศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประเมินสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม เพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วย IRAP ที่มีกว่า 50 ตัวแปร นำมาคำนวณทุก 100 เมตร บนถนน ก่อนสรุปเป็น Star rating ตั้งแต่ 1-5ดาว โดยคำนึงจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และคนเดินเท้า เป็นการประเมินที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2030 ทุกถนนต้องมีความปลอดภัยในระดับ 3 ดาวขึ้นไป รวมทั้ง ร้อยละ 75 ของเส้นทางท่องเที่ยวก็ต้องมีความปลอดภัย 3 ดาว ขึ้นไปในผู้ใช้ถนนทุกกลุ่ม สำหรับตอนนี้สามารถสำรวจไปได้แล้วประมาณ 400กม. มีระดับความปลอดภัยระดับ 1-3 ดาว โดยในอนาคตจะมีการทำ ThaiRAP เพื่อมาประเมินสภาพถนน ก่อนจะนำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น


เร่งแก้ไขจุด 'เสี่ยง' บนถนน แก้อุบัติเหตุ thaihealth


ด้าน รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย จะมี 5 ขั้นตอน คือ 1.ตั้งเป้าหมาย 2.การกำหนดจุดเสี่ยง 3.การวิเคราะห์จุดเสี่ยง 4.การแก้ไขและปรับปรุงจุดเสี่ยง และ 5.การติดตามประเมินผล ซึ่งปัจจุบันยังมีการข้ามขั้นตอนในการปฏิบัติ โดยเฉพาะในขั้นตอนการวิเคราะห์จุดเสี่ยง และการประเมินติดตามผลหลังการแก้ไข ว่าระหว่างก่อนและหลังแก้ไข สามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้จริงหรือไม่ ด้วยการเก็บข้อมูล อย่างเช่น ระบบ Crash Modification Factors (CMF) ที่มีใช้ในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีระบบเก็บข้อมูลสถิติ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยนำมาวิเคราะห์ถึงต้นทุน และประสิทธิผลของโครงการ ว่ามีความคุ้มค่าแค่ไหนในการแก้ไขจุดเสี่ยงนั้นๆ อย่างเช่น การเพิ่มแสงสว่าง การสร้างวงเวียน การติดตั้งราวกันอันตราย การปรับปรุงผิวทาง หรืองานเครื่องหมายนำทาง ที่จะนำมาเปรียบเทียบกัน ให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้จากการแก้ไข


เร่งแก้ไขจุด 'เสี่ยง' บนถนน แก้อุบัติเหตุ thaihealth


นายเจษฎา แย้มสบาย ตัวแทนเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เปิดเผยว่า ถ้าไม่เกิดกับครอบครัวจะไม่มีการคำนึงถึงสถานะ เดิมตนทำงานเป็นเสาหลักของครอบครัว คืนหนึ่งถูกคนเมาขับรถตามหลังชนขณะจอดไฟแดง หมดค่ารักษาพยาบาลไปกว่า 1 ล้านบาท จากที่เคยอาศัยคอนโด ก็ต้องย้ายไปอยู่ในชุมชนแออัด จากที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชนก็ต้องย้าย เงินหมดตัว ต้องขอข้าววัดรับประทาน จึงขอมาร่วมรณรงค์กับมูลนิธิเมาไม่ขับ เพราะชีวิตที่ตายแล้วตายเลย แต่พิการจะลำบากกว่ามาก จึงคิดว่าหากไม่เกิดอุบัติเหตุบนถนนจะดีมาก


นอกจากนี้ อยากฝากว่าคนพิการส่วนมากไม่ได้ต้องการแบมือขอเงินใคร แต่ต้องการให้เห็นว่าคนพิการมีความสามารถทำงานได้ ไม่ได้ต้องการเบี้ยผู้พิการ 800 บาทต่อเดือน เพียงอย่างเดียว อยากให้ชีวิตคนพิการของไทยเทียบเท่ากับคนอื่นๆ หากใช้เงิน 100 ล้าน แลกกับชีวิตที่เดินได้เหมือนเดิม ตนเองก็ยินดีจ่าย ตลอด 15 ปี ที่อยู่บนรถเข็นวีลแชร์ ไม่ได้มีความสุขเลย อยากให้เท้ากลับมาสัมผัสพื้นเหมือนคนอื่นอีกครั้ง

Shares:
QR Code :
QR Code