เร่งแก้พัฒนาโปรแกรมป้องกันเด็กรังแกกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
กรมสุขภาพจิตเผยไทยอันดับ 2 เด็กรังแกกันในโรงเรียน พบเหยื่อปีละ 6 แสนคน เหตุติดโซเชียลผู้ใหญ่ไม่ดูแล
เมื่อวันที่ 28 มกราคม น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น และไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยอย่างที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เข้าใจ เด็กที่รังแกกันมีตั้งแต่ระดับอนุบาล และที่น่าห่วงคือ ขณะนี้เด็กเข้าถึงสื่อโซเชียลง่าย พ่อแม่และครูมีเวลาให้เด็กน้อย เด็กเรียนรู้ความรุนแรงจากเกม สื่อต่างๆ และไปใช้กับเพื่อน
"เด็กจำนวนมากกำลังเผชิญการถูกรังแก ล้อเลียน ส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่อยากไปโรงเรียนมากขึ้น และยังพบปัญหาใหม่ มีการรังแกกันผ่านสื่อออนไลน์ทั้งการใช้ข้อความ ภาพ หรือวิดีโอคลิปบนโลกอินเตอร์เน็ตด้วย" น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว และว่า ข้อมูลผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่ามีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 2553 การสำรวจนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 33 เคยรังแกผู้อื่นทางออนไลน์ อีกร้อยละ 43 บอกเคยถูกคนอื่นรังแก
"การรังแกกันหรือล้อเลียนกันในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นการปลูกฝังเด็กเรื่องความรุนแรง การทำร้ายกัน มีผลกระทบต่อเด็กทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอารมณ์จิตใจร่างกายและคุณภาพชีวิตในระยะยาว นักเรียนที่ถูกรังแกมักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่น เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล อาชญากรได้ สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สถาบันอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมป้องกันการรังแกกันในโรงเรียนที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนไทย โดยจะเน้นที่กลุ่มเด็กระดับชั้นประถมศึกษา อายุ 6-13 ปี เป็นช่วงวัยของการเรียนรู้เรื่องเพื่อน การพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาการด้านศีลธรรมและการอยู่ในสังคมที่สำคัญ โครงการพัฒนาโปรแกรมครั้งนี้ มุ่งเน้นเพื่อการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เหมาะกับบริบทไทย สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร มีความเชื่อมต่อระหว่าง สธ. กับสถานศึกษา ครู ผู้บริหารโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์แบบ พร้อมใช้ทั่วประเทศในปีการศึกษาหน้านี้
พญ.มธุรดา กล่าวว่า ในการลดปัญหาการรังแกในโรงเรียน จะต้องให้ความสำคัญทั้งกลุ่มเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกรังแกสูงด้วย เช่น เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้า เด็กพิการ กลุ่มเด็กนักเรียนเพศทางเลือก มีรายงานมักถูกรังแกมากเป็นพิเศษ และเด็กกลุ่มที่ครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น สมาธิสั้น ซึ่งมักพบว่าเป็นเด็กกลุ่มที่เป็นผู้รังแก ที่ผ่านมาประเทศไทยเองมีต้นทุนการดำเนินงานในเรื่องนี้อยู่บ้างแล้วจากองค์กรแพธ ทู เฮลท์ (PATH2 HEALTH) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่ยังเป็นการดำเนินงานนำร่องในบางโรงเรียน