เร่งระบายน้ำเจ้าพระยารับฝนตกหนัก7-10 ก.ย.นี้

ที่มา: เดลินิวส์


เร่งระบายน้ำเจ้าพระยารับฝนตกหนัก7-10 ก.ย.นี้ thaihealth


แฟ้มภาพ


          กรมชลฯลดน้ำระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา หลังน้ำเหนือลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งระบายน้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เตรียมรับน้ำจากฝนที่จะตกหนักอีกรอบ 7-10 ก.ย.นี้


          นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ปัจจุบัน(7 ก.ย. 61)ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 966 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการลดน้ำเข้าระบบชลประทาน ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เหลือ 407 ลบ.ม./วินาที พร้อมกันนี้ ยังได้ลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เหลือ 651 ลบ.ม./วินาที ทำให้สถานการณ์น้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองบางบาล คลองโผงเผง และแม่น้ำน้อย บริเวณ ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว พร้อมกันนี้ ได้เร่งระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีน ด้วยเครื่องผลักดันน้ำที่ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 81 เครื่อง ช่วยเร่งการไหลของน้ำในแม่น้ำท่าจีนออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น


          อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 7-10 ก.ย. นี้ บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่างให้ออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาอีกในระยะต่อจากนี้ไป///


          นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อนเบบินคาและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. – 7 ก.ย. 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย นครพนม บึงกาฬ เพชรบุรี สกลนคร ลพบุรี นครนายก ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิจิตร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และสระบุรีรวม 107 อำเภอ 473 ตำบล 2,623 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 62,207 ครัวเรือน 196,793 คน ผู้เสียชีวิต 4 รายสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เชียงราย ลพบุรี พิจิตร และชัยภูมิ


          นายชยพร กล่าวต่อว่า ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 10 จังหวัด รวม 43 อำเภอ 191 ตำบล 1,300 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 36,353 ครัวเรือน 103,880 คน แยกเป็น ลุ่มน้ำโขง 3 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,038 ครัวเรือน 4,890 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขง ล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,038 ครัวเรือน 29,439 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 41,338 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 7 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,500 ครัวเรือน 22,422 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำอูนและลุ่มน้ำสงคราม 1 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 177 ครัวเรือน 477 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำชี 2 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอ 3 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 961 ครัวเรือน 1,873 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,161 ครัวเรือน 2,192 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง


          สำหรับลุ่มน้ำปราจีนบุรี 2 จังหวัด ได้แก่ นครนายก น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,163 ครัวเรือน 30,917 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,020 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,660 ครัวเรือน 9,102 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ลุ่มน้ำเพชรบุรี 1 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว ลุ่มน้ำป่าสัก 1 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี น้ำท่วมในอำเภอบ้านหมอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 158ครัวเรือน 520 คน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว ทั้งนี้ ปภ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว ท้ายนี้หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code