เร่งฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


เร่งฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม thaihealth


กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เร่งฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะในเขตเมืองทั่วประเทศ ด้วยการปลูกต้นไม้ในชุมชนไม่น้อยกว่า 40 ล้านต้น


นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ ส่งผลให้พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองลดลงต่อเนื่องจนเกิดภาวะความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เกิดปัญหามลพิษและกระทบคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงถึงเวลาต้องเร่งฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองทั่วประเทศให้กลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนต้องเพิ่มให้ได้ร้อยละ 20 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการปลูกต้นไม้ในชุมชนไม่น้อยกว่า 40 ล้านต้น หรือ 200,000 ไร่


โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้ทำโครงการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประกอบด้วย เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และเทศบาลแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี ผ่านโครงการประเมินพื้นที่สีเขียวในเมืองและชุมชน ด้วยการเปิดรับสมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ระดับ คือ ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ชุมชนเมืองขนาดกลาง และชุมชนเมืองขนาดเล็ก เพื่อเข้ารับการประเมินผลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดรับสมัครจนถึงเดือนกุมภาพันธ์นี้ แล้วจะประเมินผลภายในเดือนมิถุนายน 2563 ควบคู่กับสร้างความรู้ ความเข้าใจ และชี้แจงเกณฑ์การประเมินพื้นที่สีเขียวในเมืองและชุมชน


โดยกำหนดพื้นที่สีเขียวเป็น 5 ประเภท คือ พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่มีอยู่เดิม โดยต้องอนุรักษ์ให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ด้วยการจัดการที่เหมาะสม  พื้นที่สีเขียวเพื่อบริการ เป็นพื้นที่สีเขียวและที่โล่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้บริการ ทั้งการพักผ่อนและเสริมสร้างทัศนียภาพให้กับเมือง  พื้นที่สีเขียวเฉพาะ เป็นพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ส่วนบุคคล ประชาชนอาจไม่สามารถไปใช้บริการได้โดยตรง แต่มีผลในการสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชน  พื้นที่สีเขียวริมเส้นทางสัญจร และสุดท้ายพื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชน ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเจ้าของและเสริมสร้างคุณค่าสิ่งแวดล้อมให้ชุมชน


อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวย้ำว่า ในส่วนการประเมินจะพิจารณามาตรฐานของพื้นที่สีเขียวใน 3 ด้าน คือ เกณฑ์มาตรฐานเชิงปริมาณ กำหนดสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อมาตรฐานตัวชี้วัดต่างๆ เกณฑ์มาตรฐานเชิงคุณภาพ กำหนดการจัดการพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ และสุดท้าย เกณฑ์มาตรฐานเชิงการบริหารและการจัดการ ใช้ขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่สีเขียวเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่สำคัญเกิดระบบการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชนของประเทศไทยในอนาคต


 

Shares:
QR Code :
QR Code