เร่งกำจัดขยะมูลฝอย ส่งผลต่อสุขภาพ

ที่มา: กรมอนามัย


เร่งกำจัดขยะมูลฝอย ส่งผลต่อสุขภาพ thaihealth


แฟ้มภาพ


กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สถานพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ บูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนตามแผนแม่บทการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2561 – 2564 ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม


           นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา "การบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อของประเทศไทย” ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ว่า ทิศทางการพัฒนาในระยะ 13 ปีข้างหน้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต่างมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีหลักการสำคัญ คือ มุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม นอกจากนี้ในการประชุมระดับโลกเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งการประชุมสมัชชาสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม (United Nations Environmental Assembly: UNEA) และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA) ได้มีการนำประเด็นมลพิษสิ่งแวดล้อมและการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพมาเป็นหัวข้อการประชุม เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ และของเสียประเภทต่างๆ ให้มีความเหมาะสม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามมา รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการจัดการมูลฝอยของประเทศ โดยเฉพาะปัญหา การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ที่ยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ และรอการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะหากไม่มีการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชน และก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม


            "ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนแม่บทการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2561 – 2564 ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการ และพัฒนาระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมศักยภาพของประชาชน และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการสัมมนาการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อของประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมปศุสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และสถานประกอบการภาคเอกชน รับทราบนโยบายและช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อของประเทศ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือการดำเนินงานการจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าว


             ทางด้าน นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า ปัญหามูลฝอยของประเทศไทยทวี ความรุนแรงมากขึ้นตลอดทุกปี เป็นผลเนื่องมาจากขาดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหาการจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการคัดแยก ณ แหล่งกำเนิด การขนส่ง การกำจัด รวมทั้งการควบคุมกำกับติดตามการจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายกำหนด ซึ่งจากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2559 ได้คาดการณ์ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้น จำนวน 55,646 ตัน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2558 จำนวน 1,778 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.3 จำแนกเป็นมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากโรงพยาบาลรัฐ ร้อยละ 56.79 โรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 17.05 คลินิก ร้อยละ 19.21 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร้อยละ 6.37 สถานพยาบาลสัตว์ ร้อยละ 0.58 และห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย ร้อยละ 0.01 ซึ่งมูลฝอยติดเชื้อเหล่านี้เกิดจากการให้บริการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัย การให้ภูมิคุ้มกันโรค และการศึกษาวิจัยที่ดำเนินการทั้งในมนุษย์และสัตว์ หากจัดการไม่ถูกต้องแล้วจะเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

Shares:
QR Code :
QR Code