เรโทร “หลังอาน” โครงการจักรยาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ลู่ลมไปตามถนนสายหลัก ภายในรั้วสถาบันการศึกษา

 

          ความเคลื่อนไหวใต้ร่มไม้ที่ผูกกันคล้ายซุ้มธรรมชาติ ลู่ลมไปตามถนนสายหลัก ภายในรั้วสถาบันการศึกษา จักรยานกับชุดนักศึกษาดูจะเป็นอะไรที่เข้ากันได้อย่างลงตัว เหมือนที่ครั้งหนึ่ง “สองล้อถีบ” ก็เป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในรั้วบางเขน

 

เรโทร “หลังอาน” โครงการจักรยาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          “จักรยานเหมือนเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของที่นี่นะ” กิจษาธร อ้นเงินทยากร ศิษย์เก่ารุ่น ku 54 ยืนยันถึงความนิยมของจักรยานเมื่อวันวาน

 

          เขาเล่าว่า การใช้จักรยานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เกิดขึ้นเนื่องจากในสมัยก่อนยังมีถนนภายในมหาวิทยาลัยไม่กี่เส้น อาคารต่างๆ ก็มีจำนวนน้อย การขี่จักรยานจึงถือว่าเป็นการเดินทางที่สะดวก ต่อมา เมื่อมหาวิทยาลัยเริ่มจัดให้มีรถสวัสดิการออกวิ่งแล้ว นิสิตส่วนหนึ่งที่ไม่ได้พักหอพักในมหาวิทยาลัยจึงหันมาใช้บริการรถสวัสดิการแทน แต่ก็มีบางคณะที่รถสวัสดิการไม่ผ่านก็ยังใช้จักรยานอยู่บ้างเช่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวนศาสตร์ แต่ปัจจุบันจักรยานเหลือน้อยลงมากเมื่อเทียบกับจำนวนรถยนต์ที่วิ่งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย

 

          “มันผิดจากเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่เรายังเห็นความร่มรื่น มลพิษไม่ค่อยมี บรรยากาศเหมาะกับการเรียนที่ดี แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป การคมนาคมสะดวกขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้พาหนะในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างตามมา รถติด มลพิษทางอากาศ ทัศนวิสัยภายในรั้วมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปด้วย”

 

          ภาพจักรยานคันงาม ถูกทดแทนด้วยยวดยานพาหนะ บรรยากาศความร่มรื่นเก่าๆ เปลี่ยนเป็นม่านควันจากท่อไอเสีย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขา และรักษา สุนินทสมบูรณ์ เพื่อนร่วมรุ่นอยากเห็นเกษตรศาสตร์เมื่อวันวานหวนคืนมาอีกครั้ง

 

          โครงการจักรยาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งได้รับการสนับสนุนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อรณรงค์ให้นิสิต บุคลากรทางการศึกษาหันมาให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานอีกครั้ง

 

          “เรารู้สึกว่าจักรยานเป็นตำนานที่น่าจดจำ และในขณะเดียวกันมันก็เป็นอนาคตที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ และเป็นประโยชน์ จักรยานถึงจะเหมือนเป็นจุดเล็กๆ ที่สังคมจะมองข้าม แต่มันสามารถทำให้เราได้ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการออกกำลังกายด้วย” รักษาบอกถึงเป้าประสงค์ในการทำวิจัยครั้งนี้

 

          ด้วยลักษณะของงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมที่สามารถดึงตัวนิสิต และบุคลากรส่วนต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้เข้ามา รวมทั้งการเกื้อหนุนระหว่างโครงการของพวกเขากับโครงการที่ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเป็น การจัดบริการจักรยานฟรีกว่า 2,000 คันสำหรับนิสิต หรือการปรับปรุงระบบการจราจรภายในมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่โดยจัดสัดส่วนของ “เลนจักรยาน” เอาไว้อย่างชัดเจนภายในบริเวณของการศึกษา และโครงการต่อเนื่องอื่นๆ อีกมากมาย จึงทำให้ “ม.เกษตรวันวาน” ค่อยๆ ปรากฏเป็นรูปร่างขึ้น

 

          “จริงๆ มหาวิทยาลัยก็มีโครงการจักรยานอยู่เหมือนกัน แต่ของเราจะช่วยเสริมในเรื่องของการมีส่วนร่วมเพื่อให้เข้าถึงตัวนิสิต และบุคลากรโดยขั้นแรกต้องทราบก่อนว่าความคิดของพวกเขาเป็นยังไง จากนั้นจึงใส่กิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้จักรยานสอดแทรกเข้าไป โดยมีแกนนำทั้งกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา หรือนิสิตเอง ก็สร้างต้นแบบไปเรื่อยๆ ” กิจษาธรอธิบาย

 

          ด้านการมีส่วนร่วมของนิสิตนั้น สำหรับรุ่นพี่ปี 4 อย่าง พจนา บุญชัยยะ นายกองค์การบริหารองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรเล่าว่า ทางองค์การนิสิตได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์อยู่อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น การประกวดภาพถ่ายจักรยาน โครงการให้ยืมจักรยาน การจัดตั้งศูนย์ประสานงาน ซ่อมบำรุงจักรยาน หรือ กิจกรรมแรลลี่จักรยาน เป็นต้น

 

          “เราพยายามให้น้องๆ ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในการใช้จักรยานของทั้งหมด เพราะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องมีจักรยานเป็นสัญลักษณ์ ถึงตัวเองอาจจะไม้ได้เรียนในรุ่นก่อนๆ แต่วันนี้บรรยากาศเก่าๆ เริ่มกลับเข้ามาแล้ว ก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการชักจูงให้บรรยากาศเหล่านั้นกลับคืนมา อีกทั้งจักรยานยังทำให้เราได้ออกกำลังกาย ลดมลพิษ การขี่จักรยานยังจะสร้างการแบ่งปันเอื้อน้ำใจ เพราะในอนาคตเราจะมีโครงการจักรยานผูกโบว์ ที่สามารถให้ซ้อนท้ายติดจักรยานไปด้วยได้” เธอบอก

 

          พรพรรณ นภาอำไพพร นิสิตปี 2 คณะวิทยาศาสตร์ ยอมรับว่าถึงแม้ตัวเองจะห่างหายจากการขี่จักรยานไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการรณรงค์ให้กลับมาใช้จักรยานในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง

 

          เช่นเดียวกับรุ่นพี่ปี 3 อย่าง คุณากร วิสาลสกล นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ และนุชจรีย์ ใจลังกา จากคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ ตามตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า จักรยานนอกจากจะไม่ทำให้รถติด หรือไม่ทำให้อากาศภายในมหาวิทยาลัยเกิดมลพิษแล้ว ยังถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัวได้อีกด้วย

 

          จากแนวทางการทำงาน และความร่วมมือของส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่องภายในสถาบัน ทำให้ รักษา และกิจษาธรต่างเชื่อว่า ภาพหลังอาน 2 ล้อ ร่อนทั่วมก. จะหวนคืนกลับมาได้ในเร็ววัน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีบางเรื่องที่ทั้งคู่คิดวิธีแก้ไม่ตกเสียที

 

          “ฝนตกกับแดดร้อนเนี่ยละครับไม่รู้จะแก้ยังไง (หัวเราะ)”

 

 

 

 

 

 

ที่มา: สำนักข่าวเนชั่น

 

 

 

update: 02-02-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code