เรื่องไม่เล็กใน’ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก’
เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตและ พัฒนาการทุกๆ ด้าน เป็นวัยที่ควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูจาก พ่อแม่และเครือญาติ
ด้วยเหตุนี้เอง การจัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็กเล็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพสมบูรณ์ในอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม และสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ ภายใต้สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ แก่ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใต้ชุดโครงการ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก"
ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส.เปิดเผยว่า "การดูแลเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึงห้าปี นับเป็น ยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้มากที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่สมองของเด็กมีการพัฒนาการสูงสุด อันส่งผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์"
ทพ.กฤษดา ยังบอกต่อไปอีกว่า ปัจจุบันเด็กไทย ค่อนข้างอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องได้รับการดูแลและพัฒนา อย่างมาก เพราะมีข้อมูลร้อยละ 30 ระบุว่าเด็กไทยมีพัฒนาการช้า และถ้าปล่อยให้เลยไปถึงขั้นประถมศึกษาหรือเป็นวัยรุ่น จะพบปัญหารุนแรงมากขึ้น โดยมีเด็กกว่า 1.7 ล้านคน เริ่มสูบบุหรี่ และกว่า 2 ล้านคน เกี่ยวข้องกับเหล้า ขณะที่เด็กอีก 1 แสนคน ท้องก่อนวัยอันควร ดังนั้นการแก้ปัญหานอกจากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องใส่ใจเลี้ยงดูบุตรหลานแล้ว "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" จะมี ส่วนสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เด็กไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. บอกให้ทราบถึงความ เคลื่อนไหวของโครงการพัฒนาเด็กเล็ก ว่า โครงการในปีที่ 2 นี้ เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 220 แห่ง ให้มีความเข้าใจแนวคิดการทำสื่อการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และเกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั่วประเทศ ที่สำคัญจะต้องสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนของแต่ละพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ยังบอกด้วยว่า การใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อหวังดึงดูดความสนใจของเด็กนั้น เป็นการปัดพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ดีของเด็กออกไป เพราะเด็กเล็กอายุ 2-6 ขวบ ไม่ควรจะอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป แต่ควรจะต้องได้ฟังนิทาน จากครูหรือพ่อแม่ ต้องได้วิ่งเล่นเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ของแขนและขา ได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติแล้วเรียนรู้จากของจริง
พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนา การเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำว่า เด็กจำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับคนเลี้ยงดู มีการพูดคุยโต้ตอบ เล่นด้วยกัน ถ้าการเลี้ยงดูส่วนมากไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น ปล่อยให้เด็กดูสื่อโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เมื่อเด็กอยู่กับสื่อทางเดียวส่วนใหญ่เป็นระยะเวลานานๆ ตลอดเวลา อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทำให้เด็กพูดช้า หรือพูดได้ไม่เหมาะสมกับวัย คนเลี้ยงดูควรเพิ่มเวลาปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือผ่านการเล่านิทาน
"แม้การใช้เทคโนโลยีช่วยเพื่อการเรียนรู้จะพัฒนามากขึ้น แต่สำหรับเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรกควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้เลย หรือใช้น้อยที่สุด เพราะวัยดังกล่าวเด็กยังต้องพัฒนาประสาทสัมผัสต่างๆ ตลอดจนถึงการเคลื่อนไหว การทรงตัว และการใช้มือทำสิ่งต่างๆ หากขาด การพัฒนาอย่างรอบด้านอาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งด้านภาษาและการเรียนรู้อื่นๆ ทำให้ขาดความพร้อมเมื่อเข้าสู่วัยเรียน ดังนั้นการจัดสื่อรอบตัวเด็ก จะต้องมีความเหมาะสม" พญ.นิชรา สรุป
ทางด้าน นางสาวสวรส แก้วหนองยาง รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลพระนอน ต.พระนอน อ.เมือง นครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เล่าให้ฟังว่า การเข้าอบรมทำให้เกิด ความกระตือรือร้นมากขึ้น เป็นการจุดประกายให้อยากสร้างกิจกรรมสื่อ รวมถึงจัดสถานที่ให้เด็กเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และยังได้พัฒนาตัวเองในการดูแลเด็ก ทั้งเรื่องโภชนาการที่เหมาะสม พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ให้มีทักษะเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลพระนอน ได้รวมศูนย์ พัฒนาเด็กเล็ก 2 ศูนย์ เข้าด้วยกัน ดังนั้นสถานที่ และ สื่อการเรียนการสอนจึงต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการจัดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก โดยทางศูนย์พระนอนจะนำเอาความรู้และเทคนิคการดูแลเด็กเล็กที่ได้รับจากการเข้าอบรมมาปรับใช้เชื่อว่าจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้อย่างแน่นอน
การปลูกฝัง และการพัฒนา หากได้มีการจัดทำได้ตรงจุดตรงเป้าหมายย่อมส่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ ดังนั้น ไม่ว่าจะสร้างสรรค์งานพัฒนาอะไร สิ่งที่จะต้องคำนึงมากที่สุด คือ จุดของการเริ่มต้น เพราะการเริ่มต้น (ปลูกฝัง) ที่ได้ผลมากที่สุดคือการเริ่มต้น ที่อยู่ในสภาวะที่พร้อมที่สุด
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า