เรื่องเล่า “เหล้าปั่น”
เท่ากับเบียร์ 3 กระป๋อง
งานวิจัยของ ภญ.อรทัย วลีวงศ์ จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ระบุว่า “เหล้าปั่น” มีอันตรายเช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ 30-40 กรัมต่อเหยือก หรือเท่ากับเบียร์กระป๋อง 3 กระป๋อง หรือดื่มเหล้าขาว 4 เป๊ก ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เป็นโรคตับแข็ง โรคกระเพาะทุลุ อันตรายที่มีต่อสังคมก็หนีไม่พ้นเรื่องอุบัติเหตุจากการมึนเมา ทะเลาะวิวาท นอกจากนี้ยังมีอันตรายอื่นๆ อีก เช่น ทำให้เกิดอาการเมาซึม ซึ่งเป็นการเมาที่ไม่รู้ตัว เป็นอันตรายต่อผู้หญิงเสียงต่อการถูกล่อลวง ข่มขืน หรือติดเชื้อเอชไอวีได้ หรือบางรายนำมาผสมกับเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งมีฤทธิ์ขัดแย้งกัน โดยแอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์ยับยั้งประสาท ขณะที่เครื่องดื่มชูกำลังออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้ดื่มเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตก หรือระบบประสาททำงานผิดปกติได้
น่าตกใจที่ตลาดของเหล้าปั่นเป็นเด็กและเยาวชน จะพบว่าการทำการตลาดของร้านขายเหล้าปั่นจะตั้งราคาให้มีราคาถูกเพียงเหยือกละ 49-150 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เด็กและเยาวชนสามารถหาซื้อดื่มได้ นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย เช่น “พาเพื่อนผู้หญิงมาด้วยได้เหล้าปั่นฟรี ซื้อ 2 เหยือกแถม 1 เหยือก” เป็นต้น
การตลาดและโปรโมชั่นเหล่านี้แสดงว่า ลูกค้าหลักของเหล้าปั่นก็คือเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) เด็กหัดดื่ม 2)วัยรุ่นหญิง และ 3) ขาประจำ โดยแต่ละกลุ่มจะมีพฤติกรรมการดื่มแตกต่างกัน
กลุ่มเด็กหัดดื่ม จะพบว่าเป็นเด็กมัธยมต้น ที่เริ่มด้วยเหล้าปั่น แล้วต่อด้วยเบียร์อายุต่ำสุดที่พบคือ 7 ขวบ
กลุ่มวัยรุ่นหญิง เนื่องจากภาพลักษณ์ของเหล้าปั่นดูสดใสน่ารัก เหมือนดื่มน้ำหวาน วัยรุ่นหญิงจึงดื่มได้อย่างไม่เขินอาย ซึ่งวัยรุ่นชายจะเป็นผู้สั่งเหล้าปั่นให้ฝ่ายหญิงได้ทดลอง
กลุ่มขาประจำ ร้านเหล้าปั่นจะเป็นแหล่งนัดพบ เพื่ออุ่นเครื่องก่อนจะไปดื่มต่อที่สถานบันเทิงอื่นๆ หรือก่อนไปสร้างปัญหาสังคม เช่น แข่งรถ
ธุรกิจเหล้าปั่นกำลังเป็นที่สนใจ มีการเปิดเป็นแฟรนไชน์ ที่น่าเป็นห่วงตรงที่ผู้ประกอบการเป็นญาติ หรือรุ่นพี่ ของเยาวชนหรือตัวเยาวชนเองเป็นผู้ดำเนินกิจการ ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สนใจสังคม ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
มีรายงานที่น่าตกใจระบุว่า เด็กและเยาวชน อายุ 15-19 ปี ดื่มประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2550 เยาวชนชายไทยดื่มเหล้าครั้งหนึ่งเทียบเป็นเบียร์ 4 ขวด ดื่มทั้งปี 367 ขวดใหญ่ นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า มีร้านเหล้าเกิดขึ้นในบริเวณ 500 เมตร รอบโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เฉลี่ยร้านเหล้า 57 ร้านต่อตารางกิโลเมตร เป็นร้านเหล้าปั่น 6 ร้านต่อตารางกิโลเมตร เป็นร้านเหล้าปั่น 6 ร้านต่อมหาวิทยาลัยในเขตเชียงใหม่ มีร้านเหล้าปั่นเพิ่มขึ้นในเขตเทศบาลจาก 15 ร้าน เป็น 47 ร้าน เท่ากับ 3 เท่าในรอบสองปี คงไม่ต้องบอกว่าเด็กหรือเยาวชนที่ดื่มเหล้ามักมีโอกาสมีเพศสัมพันธ์สูงกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่ดื่มเหล้า
เหล้าปั่น ฆาตกรน้ำหวาน รุกรานสังคมอย่างรุนแรงแบบนี้ เครือข่ายรักสุขภาวะต้องร่วมแรงร่วมใจปกป้องสังคมให้ห่างไกล
ที่มา : แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย
update : 07-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร