เรื่องเลวร้าย! เมื่อฉันถูกสามี ‘ข่มขืน’
ระหว่างการถูกคนแปลกหน้าขมขื่น กับถูกคนรักข่มขืน..สิ่งไหนเจ็บปวดกว่ากัน??
การหลับนอนระหว่างคนที่เป็นสามี – ภรรยากันดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรือเป็นปัญหาแต่อย่างใด หากทั้งสองฝ่ายต่างพร้อมใจกัน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ฝ่ายภรรยาไม่ยอมร่วมหลับนอนด้วย แต่กลับถูกสามีบังคับ จนกลายเป็นความรู้สึกที่คิดว่า “ถูกขืนใจ หรือ ข่มขืน” นั้น ต่อให้เป็นสามี – ภรรยากันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า สำหรับบ้านเมืองของเรานี้พอจะมีข้อกฎหมายหรือสิ่งใดที่จะสามารถคุ้มครองสิทธิ์ของคนๆ นั้นได้บ้างหรือไม่
และเมื่อกล่าวถึง “การข่มขืนระหว่างสามีภรรยา” นั้น สังคมโดยทั่วไปไม่เข้าใจว่าการข่มขืนระหว่างสามีภรรยาว่าคืออะไร ไม่เชื่อว่ามีจริง และไม่เห็นความจำเป็นในการมีกฎหมายคุ้มครองหญิงซึ่งมีฐานะเป็นภรรยามิให้ถูกสามีข่มขืน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจ ความไม่ตระหนักในปัญหา การมีอคติทางเพศ รวมถึงอุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ สิทธิและอำนาจในเนื้อตัว ร่างกายของผู้หญิง
และไม่เพียงสิ่งเหล่านี้จะปรากฎอยู่ในระดับบุคคลและครอบครัว แม้ในระบบกฎหมายเองก็อาจมีอคติทางเพศและอุดมการณ์ชายครอบงำอยู่เช่นกัน ดังนั้นการข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยาจึงยังคงอยู่ในครอบครัวและสังคมโดยกระบวนการยุติธรรมรวมถึงกฎหมายยังไม่สามารถให้การคุ้มครองต่อภรรยาซึ่งเป็นผู้ถูกระทำได้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้
การข่มขืนระหว่างสามีภรรยา
ในการศึกษาเกี่ยวกับการข่มขืนซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) นั้นได้มีการแบ่งประเภทการข่มขืนไว้หลายรูปแบบอาทิ การข่มขืนโดยคนแปลกหน้า (stranger rape) การข่มขืนระหว่างสายโลหิต (incest rape) การข่มขืนระหว่างคู่รัก (date rape) การข่มขืนโดยผู้ใกล้ชิดหรือคนรู้จักคุ้นเคย (intimate rape) การรุมโทรม (gang rape) และการข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยา (marital rape or wife rape) เป็นต้น
นิยามโดยทั่วไปของ “การข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยา” (marital rape or wife rape) คือ การที่สามีใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ หรือกระทำการใดเพื่อบังคับหรือทำให้ภรรยาอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืน เพื่อให้มีการร่วมเพศหรือร่วมประเวณีโดยมีการสอดใส่อวัยวะเพศชายในช่องคลอด ทวารหนัก ปาก และรวมถึงกรณีสามีภรรยาที่มิได้สมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย แยกกันอยู่ หย่าร้าง หรืออยู่กินด้วยกันในช่วงเวลาหนึ่ง (
ทั้งนี้ การข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยานี้ถือเป็นการกระทำรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งนอกจากไทยแล้ว ในบางประเทศก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางกฎหมายและมีการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกรณีสามีข่มขืนภรรยาเช่นกัน อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา อิสราเอล อิตาลี เนเธอแลนด์ นิวซีแลนด์ สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ส่วนประเทศอื่นๆที่ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้แก่ อาเจนตินา บราซิล โคลัมเบีย อียิปต์ เยอรมัน ไนจีเรีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น (net and levine, 1998 อ้างใน burn, 2000)
ประเภทหรือชนิดของการข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยา
mahoney & williams ได้รวบรวมประเภทหรือชนิดของการข่มขืนจากงานวิจัย 2 เรื่องไว้ 4 ประเภท
ประเภทแรก คือการใช้กำลังบังคับเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา ในกรณีนี้สามีจะใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆบังคับให้เกิดการร่วมเพศโดยฝ่ายหญิงไม่ยินยอม
ประเภทที่สอง คือการทำร้ายร่างกายร่วมกับการข่มขืน สามีจะทั้งทำร้ายร่างกายและข่มขืนภรรยาของตน การทำร้ายร่างกายนี้อาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการร่วมเพศก็ได้ จากงานวิจัย
ประเภทที่สาม ทารุณเพื่อการตอบสนองทางเพศ สามีจะใช้วิธีการทรมานหรือการร่วมเพศในลักษณะวิปริตต่างๆ กับภรรยาของตนโดยฝ่ายหญิงไม่ยินยอม
ประเภทสุดท้าย เป็นแบบผสม!!
ส่วนรูปแบบหรือวิธีการร่วมเพศ ในการข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยานั้น ตามกฎหมายไทยเกี่ยวกับ “การข่มขืนกระทำชำเรา” ได้บัญญัติไว้ว่า รูปแบบหรือวิธีการจะต้องเป็นการร่วมเพศโดยอวัยวะเพศชายทางช่องคลอดของฝ่ายหญิง และอวัยวะเพศชายต้องสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการข่มขืนกระทำชำเราทางกฎหมายนั้น อาศัยการตีความจากความหมายของการร่วมประเวณีตามความหมายทางการแพทย์คือ การสอดใส่อวัยวะเพศชายในช่องคลอดของอวัยวะเพศหญิง
จึงเป็นการตีความซึ่งขาดความเป็นธรรมและไม่คำนึงถึงความรู้สึกและจิตใจของผู้หญิง กฎหมายและการแพทย์ได้ให้ความหมายแก่ร่างกายและอวัยวะเพศของหญิงในฐานะเป็นก้อนเนื้อไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีความรู้สึก ทั้งๆ ที่การข่มขืนนั้นเป็นการกระทำล่วงล้ำทั้งทางจิตใจและร่างกาย และมีผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้หญิงมากกว่าทางด้านร่างกายเสียอีก
ดังนั้นในการตรากฎหมาย แก้ไขกฎหมายและพิจารณาคดีความเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเรา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ความหมายหรือความรู้สึกของผู้หญิงที่มีต่ออวัยวะเพศของตนด้วยว่า อวัยวะเพศหญิงหมายถึงอะไร บริเวณตั้งแต่ส่วนใดคืออวัยวะเพศ ส่วนใดที่หญิงถือว่าเป็นการล่วงล้ำ ต้องถึงกับสอดใส่หรือไม่ การพยายามล่วงล้ำสอดใส่ถึงบริเวณปากช่องสังวาส (vulva) หรือ แคมเนื้อบริเวณสองข้างปากช่องสังวาส (labia) โดยหญิงไม่ยินยอมถือเป็นการแสดงเจตนาของชายในการต้องการข่มขืนร่วมเพศหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นมิติที่กฎหมายจะต้องคำนึงถึงด้วย
นอกจากนี้ “วิธีการร่วมเพศ” นั้นมิได้หมายเพียงการร่วมเพศทางช่องคลอดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากงานวิจัยต่างๆพบว่ามีวิธีการร่วมเพศในหลากรูปแบบทั้งทางปาก ทวารหนัก หรือแม้แต่การใช้วัตถุแทนอวัยวะเพศ หรือบังคับให้ร่วมเพศกับสัตว์ วิธีการเหล่านี้ถือเป็นการข่มขืนทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยจำนวน 4 เรื่องเกี่ยวกับการกระทำรุนแรงทางเพศที่ชายกระทำต่อภรรยาหรือคู่ครองนั้นมีรูปแบบต่างกันเช่น ร่วมเพศทางปาก ทวารหนัก การใช้วัตถุ นิ้วมือ การทุบตี การบังคับร่วมเพศมากกว่าหนึ่งครั้ง
mahoney & williams ได้เปิดเผยข้อมูลว่าเหยื่อส่วนใหญ่รายงานว่าถูกบังคับร่วมเพศทางช่องคลอด เกือบร้อยละ 50 ถูกทำร้ายหรือทุบตีระหว่างการร่วมเพศ และหนึ่งในสามเคยถูกบังคับให้ร่วมเพศทางปากและทวารหนัก ส่วนการใช้วัตถุนั้นไม่ค่อยมีข้อมูล และงานวิจัยของ campbell & alford (1989) ยังรายงานอีกว่า เหยื่อบางคนถูกบังคับให้ร่วมเพศกับหญิงอื่น ร่วมเพศกับสัตว์ หญิงอาชีพบริการทางเพศ และร่วมเพศในที่สาธารณะ
ทำไมภรรยาจึงนิ่งเงียบไม่กล้าบอกใคร
mahoney & williams สรุปรวบรวมจากงานวิจัยต่างๆ ว่าปัจจัยที่ทำให้ภรรยานิ่งเงียบไม่กล้าบอกเล่าปัญหาแก่บุคคลอื่นหรือสังคมคือ
(1) ความซื่อสัตย์จงรักภักดีและความรู้สึกว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว ไม่ควรเปิดเผยให้บุคคลภายนอกรับรู้
(2) ผู้หญิงหรือภรรยาไม่ต้องการยอมรับภาวะที่ตนเองตกเป็นเหยื่อของการข่มขืน
(3) การไม่ต้องการถูกตีตราจากสังคมว่าเคยมีประสบการณ์ในการถูกข่มขืน
(4) การมีมายาคติหรือความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในชีวิตแต่งงาน และการใช้ชีวิตคู่ว่าภรรยามีหน้าที่ปรนนิบัติตามใจสามีในเรื่องเพศทุกประการไม่ว่าเธอจะต้องการหรือเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
(5) ไม่สามารถบอกหรือรู้ความแตกต่างระหว่างการมีเพศสัมพันธ์อย่างปกติหรือการถูกบังคับโดยใช้กำลังเนื่องจากไม่เคยมีประสบการทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
ผลกระทบจากการที่ภรรยาถูกข่มขืน
ในด้านผลกระทบจากการที่ภรรยาหรือคู่ครองถูกข่มขืนนั้นยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่มากในสังคมไทย กล่าวคือสังคมมักจะหวาดกลัว และตระหนักต่อผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจากคนแปลกหน้ามากกว่าการถูกข่มขืนจากสามีหรือคู่ครองของตนเอง โดยครอบครัวจะให้ความเห็นอกเห็นใจ สนับสนุนทางด้านจิตใจอย่างเต็มที่ ตำรวจหรือกระบวนการยุติธรรมก็พยายามหาทางจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษเนื่องจากเป็นเรื่องสะเทือนขวัญในสังคม
แต่ในกรณีที่ภรรยาถูกสามีข่มขืนนั้น สังคมส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า การกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเหยื่อ แต่แท้จริงแล้วมีผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ งานวิจัยจากต่างประเทศยืนยันว่าการข่มขืนระหว่างสามีภรรยานั้นสร้างผลกระทบรุนแรง เนื่องจากเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เหยื่อจะถูกทำร้ายร่างกายและข่มขืน แต่ต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม นิ่งเฉย ไม่สามารถหาทางออกหรือหลีกเลี่ยงต่อการกระทำรุนแรงทางเพศนั้นเพราะอับอาย และจำนนต่ออำนาจของผู้กระทำซึ่งมีผลกระทบทางด้านจิตใจรุนแรงกว่าการข่มขืนจากคนแปลกหน้า เช่น finkelhor และ yllo ได้กล่าวไว้อย่างน่าสะเทือนใจว่า
“ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจากคนแปลกหน้านั้น มีชีวิตอยู่กับความทรงจำของการถูกทำร้ายที่น่าหวาดกลัว แต่ผู้หญิงที่ถูกสามีข่มขืนนั้นต้องดำเนินชีวิตอยู่กับคนที่ข่มขืนเธอ” (finkelhor and yllo, 1983 อ้างใน mahoney & williams)
ที่สำคัญที่สุดก็คือผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถร้องขอการคุ้มครองจากสังคมและกฎหมาย แม้ว่าการข่มขืนนี้จะเป็นการกระทำของสามีต่อภรรยา แต่ผลกระทบมิได้เกิดกับเฉพาะกับภรรยาเท่านั้น เด็กหรือลูกๆ ก็ได้รับผลกระทบนี้ด้วย เพราะเด็กๆ อาจได้ยินเสียงร้อง เห็นการทำร้ายร่างกาย หรือทราบได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ของเขากำลังมีปัญหาและยังพบด้วยว่ามีบางครั้งที่เด็กถูกบังคับให้มีส่วนร่วมในการบังคับร่วมเพศนั้นๆ ด้วย (campbell&alford, 1989 อ้างใน mahoney & williams)
ดังนั้น ปัญหาการขัดแย้ง ทะเลาะหรือความแตกแยกของครอบครัวจึงมิได้เริ่มต้นเมื่อผู้หญิงต้องการฟ้องร้องให้กฎหมายคุ้มครองเธอ หากแต่การฟ้องร้องจะเป็นการหยุดยั้งปัญหาหรือระงับความรุนแรงที่เธอได้รับ เพราะปัญหาต่างๆ ได้เกิดก่อนหน้านี้และส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจต่อเธอและสมาชิกครอบครัวในลักษณะเรื้อรัง การที่ผู้หญิงหรือภรรยาไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีจึงไม่ได้หมายความว่าสภาพชีวิตในบ้านเป็นปกติสุข ไม่มีความแตกแยก นี่คือสิ่งที่สังคมควรทำความเข้าใจกันอีกครั้งหนึ่ง
เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก: มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
ที่มา: หนังสือพิมพ์astv ผู้จัดการ
ภาพประกอบ: อินเทอร์เน็ต
update 27-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก