เรื่องเพศ พูดได้

เรื่องโดย  ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก กิจกรรมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดนครราชสีมา


ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


เรื่องเพศ พูดได้ thaihealth


“เรื่องอย่างว่าใครเขาพูดกัน ยังเด็กอยู่ ตั้งใจเรียนไปเถอะ อย่าเพิ่งมีแฟน อย่าเพิ่งอยากรู้เรื่องพวกนั้นเลย”


“ไม่ต้องอยากรู้หรอก เรื่องเพศ อะไรพวกนี้น่ะ มันไม่ดี มันยังไม่ถึงเวลา”


เชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยได้ยินประโยคจากผู้ใหญ่หลายท่านที่ห้ามและบอกไม่ให้พูดเรื่องเพศ แต่บางครั้งการที่ยิ่งห้าม ก็เหมือนยิ่งยุ เพราะกลับทำให้เด็กและเยาวชนอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง เพียงเพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้ามนั้นเป็นอย่างไรกัน จะดีกว่าไหม ถ้าอยากจะชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคมไทยเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ เปิดใจพูดเรื่องเพศกับบุตรหลานมากขึ้น


ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่ต้องปกปิด น่าอาย ลามก หรือเป็นเรื่องต้องห้ามอีกต่อไป ในทางกลับกันเรื่องเพศกลับเป็นเรื่องที่ต้องเร่งสร้างความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเด็กและเยาวชนว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาทั้งเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ถือเป็นภารกิจสำคัญในการสร้างสุขภาวะทางเพศที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน และเป็นหนึ่งในแผนหลักการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะของ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเลือกให้กลุ่มสองข้างทางรถไฟ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็น 1 ใน 20 จังหวัดพื้นที่ต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชนอย่างรอบด้าน


 


เรื่องเพศ พูดได้ thaihealth


นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวถึงการทำงานด้านสุขภาวะทางเพศในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า สสส. มุ่งสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ รณรงค์ให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่พูดได้ สื่อสารได้ เพื่อลดการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และเพิ่มการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย ทั้งการคุมกำเนิด การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา เป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบที่ สสส. ให้ความสำคัญเร่งแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น


“แท้ที่จริงแล้วเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องน่าอาย เป็นเรื่องที่สามารถพูดได้ สื่อสารได้ สสส. มุ่งสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ ชวนพ่อแม่ ผู้ปกครองและสังคมไทย ทำความเข้าใจลูกหลาน เราสื่อสารให้ชวนคิด กระตุกต่อมให้เห็นว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องหยาบคาย ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจอีกต่อไป แต่เรื่องเพศช่วยให้คนเข้าใจตัวเองมากขึ้น สสส. เราทำงานกับคนทุกช่วงวัย และทำร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งสนับสนุนให้เกิดสุขภาวะทางเพศที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน” นายชาติวุฒิ กล่าว


 


เรื่องเพศ พูดได้ thaihealth


ด้าน ดร.ปาณิสรา จันทรัตน์ นักพัฒนาชุมชน ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคมเทศบาลนครราชสีมา เล่าถึงการทำงานด้านสุขภาวะทางเพศในพื้นที่สองข้างทางรถไฟ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ว่า ในฐานะที่เป็นครูอาสาสอนเด็กด้อยโอกาส ที่กลุ่มสองข้างทางรถไฟแห่งนี้มากว่า 16 ปี แล้ว จะเห็นว่ามีเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือจำนวนมาก คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย รับจ้างทั่วไป มีฐานะยากจน ทำให้พวกเขาไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่ควร และถือว่ายังเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม มีปัญหาด้านสถานะบุคคล ไม่มีใบเกิดหลายคน แต่ ณ ปัจจุบัน หลังจากเข้ามาดำเนินงานในพื้นที่นี้ ก็ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนหนังสือ และได้รับสถานะทางบุคคลเกือบทั้งหมดแล้ว


 


เรื่องเพศ พูดได้ thaihealth


“ในกลุ่มสองข้างทางรถไฟมีเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือหลายคนมาก เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ทำให้เด็กขาดความรู้และทักษะในเรื่องสุขภาวะทางเพศ ถือเป็นความโชคดีที่ทางเทศบาลนครราชสีมาได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณและองค์ความรู้ในการจัดทำโครงการ “ร้อยฝันสู่เด็กไทย คืนกำไรต้นทุนชีวิต” จาก สสส. ซึ่งเป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของเด็ก


 


เรื่องเพศ พูดได้ thaihealth


และส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะชีวิตก็คือ เรื่องสุขภาวะทางเพศ ในการป้องกันท้องวัยรุ่น และรู้เท่าทันเรื่องเพศ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าถ้าหากเจอกับปัญหาเรื่องเพศ จะมีวิธีป้องกันและรับมือกับปัญหานั้นอย่างไร ทำให้เด็กได้เลือกวิธีที่เหมาะสมกับชีวิตของเขา และเป็นเกราะคุ้มกันให้เด็กได้มีทักษะชีวิต และมีสุขภาวะทางเพศที่ดีขึ้น ซึ่งจากการทำโครงการนี้ ช่วยลดปัญหาคุณแม่วัยใสในชุมชนได้เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป” ดร.ปาณิสรา กล่าว


ในส่วนของช่องทางที่จะเป็นตัวช่วยในการให้คำปรึกษาเรื่องเพศและการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัยมี 4 ช่องทางหลัก ดังนี้


1. 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ให้คำปรึกษาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือกในการคุมกำเนิด ทางเลือกในกรณีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม


2. เว็บไซต์อาสาไทย  www.rsathai.org ให้คำปรึกษา คุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร และทางเลือกในการตั้งครรภ์ ทั้งตั้งครรภ์ต่อ หรือยุติการตั้งครรภ์สำหรับหญิง ตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม หรือไม่ได้มีการวางแผนครอบครัว


3. เว็บไซต์ https://www.path2health.or.th/ และเพจเฟซบุ๊กมูลนิธิแพธทูเฮลท์ : Path2health Foundation ให้ความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาที่ถูกต้อง และการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย


4. Line Official Account TEEN CLUB ช่องทางให้คนทั่วไป โดยเฉพาะวัยรุ่นได้เข้าถึงความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การคุมกำเนิด สิทธิและข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อวัยรุ่น


 


เรื่องเพศ พูดได้ thaihealth


สสส. และภาคีเครือข่ายรณรงค์ ขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงทัศนคติ สร้างค่านิยมใหม่ ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่พูดได้ การพูดเรื่องเพศไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ “เรื่องเพศ”เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย จิตใจ สังคม วัฒนธรรม ที่ต้องให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องกับบุตรหลาน เพื่อเตรียมให้เขามีทักษะในการดูแลตัวเองในเรื่องเพศ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะทางเพศที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน


 


เรื่องเพศ พูดได้ thaihealth


อยากเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครองยุคใหม่เปิดใจพูดเรื่องเพศกับบุตรหลาน เป็นเพื่อนคู่คิดให้กับพวกเขา ได้มีคำตอบที่ถูกต้องและเหมาะสมในการใช้ชีวิต กล้าที่จะปรึกษาปัญหากับผู้ใหญ่ ไว้วางใจว่าเรื่องของพวกเขาจะเป็นความลับ พวกเขาจะไม่ถูกตำหนิ และซ้ำเติม หากทำผิดพลาด ให้เรื่องเพศ เป็นเรื่องที่พูดได้อย่างปลอดภัย เริ่มต้นจากในบ้านและครอบครัวของเด็กทุกคน

Shares:
QR Code :
QR Code