เรื่องน่ารู้…สมุนไพรสำหรับเด็ก
การตื่นตัวเรื่องการใช้สมุนไพรของผู้ใหญ่ในสังคมเพิ่มขึ้นมาก แต่กลับพบว่าคนจำนวนหนึ่งไม่ค่อยมีความรู้เรื่องสมุนไพรสำหรับเด็ก ความเป็นจริงใช้กับเด็กได้หรือไม่?
โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย ในฐานะที่ทำงานส่งเสริมการใช้สมุนไพรก็เห็นคล้อยตามว่า เราส่งเสริมการใช้สมุนไพรกับผู้ใหญ่กันมาก เช่น ขณะนี้เราเริ่มยอมรับการดูแลแม่ลูกอ่อนด้วยการหันกลับมาส่งเสริมการอยู่ไฟหลังคลอดกันมาก ทั้งการนวด อบ ประคบครบเครื่อง และยังอยู่ในบริการที่สามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในระบบหลักประกันถ้วนหน้าด้วย แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการดูแลเด็กของเรากลับส่งเสริมอย่างเป็นระบบน้อยมาก
วันนี้จึงชวนมาฟื้นฟูภูมิความรู้ก้นครัวที่สืบทอดจากรุ่นปู่ย่าตายาย ที่ได้ช่วยบรรเทาอาการไม่สบายให้เด็กมาอย่างยาวนานและใช้ได้ผลจริง เพียงแต่วันนี้เราอาจหลงลืมไป
ยามหาหิงคุ์
สมุนไพรสำหรับเด็กนี้ใช้ได้ทั้งยาภายในและภายนอก เริ่มจากที่คุ้นเคยและทุกวันนี้หลายท่านยังใช้กัน โดยที่อาจนึกไปว่าคือ ยาฝรั่ง เพราะผลิตจำหน่ายกันในโรงพยาบาลเอกชนก็มี เรียกกันติดปากว่า ยามหาหิงคุ์ มาจากต้นมาหิงคุ์ มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Ferula asafoetida อยู่ในวงศ์ Apiaceae คนโบราณเขาเอาก้อนมหาหิงคุ์มาผูกไว้กับข้อมือเด็ก เพื่อให้กลิ่นหรือหลักการแบบ aro-matherapy ได้ช่วยบำบัดอาการท้องอืดเฟ้อในเด็กอ่อน หรือไม่ก็นำมหาหิงคุ์มาฝนกับสุรา นำน้ำยามาทาท้องเด็กแก้ท้องอืดเช่นกัน
ในปัจจุบันมีการผลิตที่ก้าวหน้าก็ทำการสกัดมหาหิงคุ์ในรูป ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ ซึ่งเป็นยาน้ำข้างกายแม่ลูกอ่อนนำไปทาบางๆ บริเวณท้องทารกแก้อาการท้องอืดเฟ้อ พ่อแม่บางรายจะทาที่ฝ่ามือฝ่าเท้าของเด็กด้วย ได้ผลดี
ดอกกานพลูแห้ง
นอกจากมหาหิงคุ์ยายอดนิยมแล้ว ยังมีสูตรแก้ท้องอืดแนวบ้านๆ ใช้กันในครัวเรือนอีก เช่น ดอกกานพลูแห้ง โดยนำดอกกานพลูแห้ง 1-2 ดอก แช่ในน้ำสะอาด 1 ขวดน้ำปลาหรือประมาณ 1 ลิตร น้ำที่แช่ดอกกานพลูนี้ให้นำมาใช้ในการชงนมให้เด็กกิน ตัวยาอ่อนๆ ของกานพลูที่ละลายในน้ำจะช่วยแก้ท้องอืดได้ หรือจะใช้วิธียาด่วนแก้อาการอืดเฟ้อ ให้หาใบพลู เชื่อว่ายังหาได้ไม่ยาก
ใบพลู
แม้ทุกวันนี้การกินหมากพลูจะไม่นิยมกันแล้วก็ตาม นำใบพลูมาสัก 4-5 ใบ เอามาอังไฟหรือลนกับเทียนก็ได้ ให้ใบพลูอ่อนและพออุ่นๆ ให้นำไปวางบนท้องเด็กซ้อนกันหลายชั้น พอใบพลูเย็นก็ให้เปลี่ยนใบพลูใบใหม่ไปอังไฟแล้ววางไว้ ทำซ้ำหลายครั้ง สัก 15-30 นาที
ใบพลู มีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อได้เช่นกัน และการที่เอายาทาที่ท้อง (เว้นตรงสะดือ) หรือเอาใบพลูอุ่นๆ ปิดไว้นั้น ตัวยาสามารถซึมผ่านผิวบางๆ ของเด็กได้
ยากินที่ขอแนะนำไว้อีก 2 สูตรคือ ยาแก้ท้องผูกและท้องเสีย เด็กๆ มักเป็นกันง่าย สำหรับท้องผูกนั้นแก้ไขไม่ยาก เด็กทารกที่ยังกินนมแม่โดยปกติก็ถ่ายท้องประจำ แต่พอเริ่มพ้น 6 เดือน อาจเริ่มกินนมผง และอาหารอ่อนได้บ้างแล้ว เด็กคนใดถ้าสังเกตว่าไม่ค่อยได้ถ่ายท้อง แนะนำให้กากใยอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่ากล้วยน้ำว้า โดยให้เลือกขูดเนื้อกล้วยน้ำว้าที่สุกงอม อย่ากินกล้วยที่ยังห่ามและดิบเด็ดขาดเพราะจะทำให้ย่อยยาก
กล้วย
ถ้ากินกล้วยหักมุกเผาจะยิ่งดีกว่ากล้วยน้ำว้า เพราะการเผากล้วยจะทำให้โปรตีนในกล้วยถูกย่อยให้กินง่าย เด็กๆ กินแล้วไม่ทำให้ท้องอืด กินแล้วเป็นอาหารเสริมที่ดีมาก และช่วยเพิ่มการขับถ่าย ให้กินครั้งละ 1 ลูก วันละ 2 ครั้งก็กำลังเหมาะ หากได้ฝึกนิสัยให้เด็กกินกล้วยน้ำว้าเป็นประจำ นอกจากจะได้สารอาหารที่ดีแล้ว กล้วยยังช่วยรักษาระบบการขับถ่ายให้เป็นปกติด้วย
ต้นทับทิม
สำหรับกรณีท้องเสียนั้น ต้องดูว่าเป็นการท้องเสียไม่มากและไม่มีอาการไข้ร่วมด้วย หรือถ้าเด็กท้องเสียแล้วมีอาการซึมกินอาหารไม่ได้ ถ้ามีอาการร่วมแบบนี้ควรส่งโรงพยาบาลจะดีกว่า แต่ถ้าถ่ายเหลวหรือท้องเสียไม่มาก เด็กยังร่าเริงยิ้มแย้มกินอาหารได้ ให้นำยอดอ่อนต้นทับทิมมาสัก 1 กำมือล้างน้ำให้สะอาด ใส่น้ำลงไปสัก 3-4 แก้ว ต้มเดือดนานครึ่งชั่วโมง ให้เด็กกินครั้งละ 1-2 ถ้วยชา กินทุกๆ 2-4 ชั่วโมง ถ้าผ่านไป 1 วันอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรพบแพทย์
มะกรูด
ยังมีตำรับยากินสำหรับเด็กอีกหลายขนาน แต่ขอปิดท้าย ยาภายนอกที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้กันบ่อยๆ แม้ว่าเด็กในปัจจุบันจะเล่นของเล่นแท็บเล็ต แต่ก็ไม่สามารถต้านไข่เหาได้ เด็กๆ เกือบทุกคนจึงได้โอกาสเป็นเหาขึ้นหัวกันได้ทุกคน อย่ากังวล ให้ใช้มะกรูดสัก 2 ลูก นำไปเผาไฟ แล้วโขลกคั้นเอาแต่น้ำทาให้ทั่วเส้นผม หมักทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง ล้างน้ำออก
ใบน้อยหน่า
สำหรับตำรับยอดฮิตแต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังอย่าให้เข้าตาเพราะจะแสบมาก คือ ใช้ใบน้อยหน่า 5-6 ใบ โขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำแล้วคั้นเอาแต่น้ำชโลมทาให้ทั่วศีรษะ เอาผ้าโพกหมักไว้ครึ่งชั่วโมงจึงล้างน้ำออก ให้ทำซ้ำในวันรุ่งขึ้น ก็จะกำจัดเหาได้ดั่งใจ
ว่านหางจระเข้
อันที่จริงยังมีสมุนไพรที่ใช้ภายนอกสำหรับผู้ใหญ่ก็สามารถนำมาใช้กับเด็กได้อีกมากมาย เช่น ไฟไหม้น้ำร้อนลวก เป็นแผลสด ก็ให้นึกถึงวุ้นว่านหางจระเข้ ต้นไม้ที่ควรปลูกประจำบ้าน ใช้ได้ทั้งครอบครัว เป็นต้น
ถ้าเรามาช่วยกันส่งเสริมการใช้ในเด็ก เริ่มจากสมุนไพรใกล้ตัวก็เป็นการปลูกฝังภูมิปัญญาให้กับเด็กๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์