เรียนให้ถึง ‘ราก’ มิชชั่นใหญ่ของวัยรุ่น
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หลายปีมาแล้วที่ชาวบ้านลุ่มน้ำชมภู ต.ชมภู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เก็บได้วัตถุโบราณ ประเภทหม้อ ไห เครื่องปั้นดินเผา กระทั่งศาสตราวุธโบราณที่โผล่ขึ้นจากใต้พื้นดิน หลังมีโรงโม่หินเข้าไปตั้งบริเวณเทือกเขา ผาแดงรังกายที่ตั้งอยู่หลังหมู่บ้านชมภู แล้วระเบิดหน้าดินจนวัตถุโบราณเหล่านี้ โผล่ขึ้นมา หรือบางรายก็ค้นพบตาม หัวไร่ปลายนาระหว่างขุดไถ เพื่อทำ การเพาะปลูก จึงนำมาเก็บไว้ตามบ้านเรือน
ต่อมาได้ส่งตัวอย่างไปตรวจสอบที่กรมศิลปากร วัตถุโบราณที่พบมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป พบได้ถึง 3 ยุคสมัย คือยุคร่วมสมัยอายุไม่เกิน 100 ปี, ยุคประวัติศาสตร์ และยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัตถุบางชิ้นสันนิษฐานว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับจีนในเชิงพาณิชย์ ดูได้จากถ้วยชามสังคโลกที่เป็นลวดลายแบบจีน เป็นต้น
พระเทพพิทักษ์ สิริคุตฺโต เลขานุการเจ้าอาวาสวัดชมภู เล่าว่า หลังจากที่เห็นบ้านแต่ละหลังมีถ้วยชามโบราณเก็บไว้แบบกระจัดกระจาย จึงอยากเก็บรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน และมีชาวบ้านทยอยบริจาคให้ตั้งแต่ปี 2543 แต่ตอนนั้นยังไม่ได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และในเวลาต่อมาเมื่อทาง เจ้าอาวาสยกหอฉันให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ก็มีการจัดผ้าป่าระดมทุน ไม่ได้ขอรับ การสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องถิ่น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากศรัทธาชาวบ้านอย่างมาก เนื่องจากวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของ 2 หมู่บ้านใหญ่ คือหมู่ 1 และหมู่ 3 ที่สำคัญคือทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นสายเครือญาติ กันเกือบทั้งหมด มีเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้น
เมื่อปรับปรุงหอฉันให้เป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็ประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านที่มีวัตถุโบราณที่เก็บได้ตาม หัวไร่ปลายนา แม่น้ำ หรือใต้ถุนเรือนให้นำมาเก็บรวมกันในพิพิธภัณฑ์ เพราะวันนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ยังรับรู้ถึงที่มาของวัตถุโบราณแต่ละชิ้น บางคนยังเล่าย้อนไปถึงสมัยอดีตเมื่อ 2-3 ชั่วอายุคน ตามที่มีการเล่าสืบต่อกันมาในตระกูลได้ หากวันหน้าล้มหายตายจากไป เรื่องราว ก็คงสูญหายไปกับตัว ดังนั้นการนำมา เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ พร้อมอธิบายประวัติความเป็นมากำกับไว้ เยาวชนก็จะ ได้มีส่วนร่วมเรียนรู้และรู้ที่มาที่ไปของชุมชนตนเอง สามารถถ่ายทอดสู่คนอื่นสืบไปได้
เพื่อให้วัตถุโบราณที่เก็บสะสมไว้ ก่อประโยชน์ให้กับชุมชนและเยาวชน รุ่นหลัง ทางวัดชุมภูและชุมชนบ้านชมภู จึงขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำ โครงการจดหมายเหตุชมภู เพื่อดำเนินกิจกรรมเยาวชนลุ่มน้ำชมพู ได้ศึกษาเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง ผ่านวัตถุโบราณและสถานที่สำคัญ ทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น โดยมีพระเทพพิทักษ์ สิริคุตฺโต เป็นที่ปรึกษาโครงการ
ธนิกา อ่อนสี หัวหน้าโครงการจดหมายเหตุชมพู กล่าวว่า กิจกรรมที่ทำ หวังสร้างมุมมองให้กับเยาวชน ให้หันมาสนใจความเป็นมาของชุมชน เพราะเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน และน่าศึกษา ขณะเดียวกันก็อยากจัดเก็บข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับ คนรุ่นหลัง จะได้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่ลืมถิ่นฐาน และรู้จักรากเหง้าของตนเอง
กิจกรรมค่าย จึงนำมาเป็นรูปแบบในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชน โดยเวลา 3 วัน 2 คืน ที่จัดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ทางโครงการ ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร ไปให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ และ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุทยานแห่งชาติ ทุ่งแสลงหลวง เป็นวิทยากรเรื่องเกี่ยวกับ ธรรมชาติ พร้อมทั้งพาเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมีเยาวชนให้ความสนใจเข้าร่วมถึง 34 คน โดยมีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้ามาช่วยเป็น พี่เลี้ยงในค่าย ขณะที่ชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด
"หลังจากจบค่าย ทุกคนก็มักจะถามเสมอว่าจะมีกิจกรรมอีกไหม" ธนิกา กล่าวด้วยความดีใจ และว่า เธอและ แกนนำได้ทำงานต่อเนื่อง โดยชักชวนเยาวชนมาช่วยพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่ ชาวบ้านนำวัตถุโบราณบางส่วนมาบริจาคให้ที่วัดรวบรวมไว้ในหอฉัน แต่ขณะนั้น ยังไม่ได้จัดเก็บเป็นสัดส่วนหรือทำทะเบียนอย่างชัดเจน จึงให้น้องๆ เยาวชนมาช่วยกันถ่ายรูปวัตถุโบราณ แล้วระบุรายละเอียดรูปพรรณสัณฐานของโบราณวัตถุแต่ละชิ้น อยู่ในสมัยใด ใครเป็นผู้บริจาค ซึ่งระหว่างการจัดทำก็มีตัวแทนของสำนักงานศิลปากรที่ 6 สุโขทัย มาช่วยดูแล แนะนำด้วย และจะจัดทำรูปเล่มหนังสือชุด "จดหมายเหตุชมภู" ให้คนรุ่นหลังศึกษาอย่างเข้าใจ สามารถสืบต่อได้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ดั้งเดิม
"น้องๆ กล้าแสดงออกมาก มีการ จัดตั้งทีมสื่อความหมาย คอยอธิบาย ให้คนที่มาชมพิพิธภัณฑ์เข้าใจวัตถุ แต่ละชิ้น เมื่อมีคำถามก็จะตอบได้ทันที ซึ่งความรู้และเข้าใจดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะถ่ายทอดสู่คนอื่นเท่านั้น หากยังทำให้พวกเขาเองซึมซับรากเหง้าของตนเอง มากขึ้นโดยปริยาย หลังจากเสร็จสิ้นโครงการจดหมายเหตุชมภู จึงคิดกันว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ใต้ถุนบ้านต่อไป แม้จะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส.แล้ว เพราะสิ่งของบางอย่างที่ชาวบ้าน เก็บไว้ ยังไม่ได้นำมาบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงใต้ถุนบ้านแต่ละหลังน่าจะเป็นคลังความรู้ และเสน่ห์จากการฟังเรื่องเล่าผ่านปากคำผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ ในบ้าน ช่วยให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าติดตามค้นหายิ่งขึ้น" หัวหน้าโครงการ กล่าวย้ำ
มันคงจะดีกว่า เพราะแทนที่จะนั่งดูทีวี เล่นเกม หรือแชทกับเพื่อนทั้งวัน น้องๆ กลุ่มนี้ยังจะได้ฝึกฝนทักษะ การเป็นนักสื่อความหมาย ได้ลับฝีมือ การเป็นไกด์ท้องถิ่นพานักท่องเที่ยว เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ได้ฝึกการทำงาน พบปะผู้คนต่างถิ่น ต่างเพศ และต่างวัย แถมยังมีรายได้เป็นค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ และที่ประเมินค่าไม่ได้เลยนั่นก็คือ การได้เรียนรู้และภูมิใจในรากเหง้า ประวัติศาสตร์ของตัวเอง