เรียนรู้ อยู่ร่วม บนความต่างของวัฒนธรรม
กระแสสังคมเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทกับสังคมไทยมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ด้านเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่ด้านวัฒนธรรมก็มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางว่าเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่บนฐานวัฒนธรรมที่ต่างกัน
“การอยู่ร่วมกันในสังคมที่ต่างมีความหลากหลายของวัฒนธรรม ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการอยู่ร่วมกันจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข” รศ.ดร.โสภนา ศรีจำปา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวในเวทีเสวนาอาเซียนหัวข้อ “ศาสตร์และศิลป์ของการอยู่ร่วมกัน” จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร.โสภนา อธิบายว่า หากยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากประเทศประชาคมอาเซียนที่มีความหลากหลายวัฒนธรรมในสังคมหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือ “ประเทศมาเลเซีย” ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ โดยจากผลวิจัยของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย พบว่า ในอดีตคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ส่วนใหญ่เริ่มจากการเข้ามาทำการค้าหรือการทำแรงงาน เกิดการสร้างชุมชนบนวิถีชาติพันธุ์ของตนเอง เช่น กลุ่มอินเดีย กลุ่มจีน กลุ่มไทย เป็นต้น ทำงานตามความถนัดความสามารถ และยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองไม่ทิ้งความเป็นตนเอง แต่ในขณะเดียวกันเมื่ออยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายก็มีความเคารพในอัตลักษณ์ของสังคมรอบข้าง
นอกจากนี้ เรื่องของสิทธิเสรีภาพจะต้องให้อยู่บนฐานของกฏหมายร่วมกัน เช่น การเข้าถึงด้านบริการทางการแพทย์สาธารณสุขที่ปัจจุบันคนจากทุกเชื้อชาติสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน อีกประเด็นที่ประเทศมาเลเซียให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ ด้านการศึกษา โดยมีการกำหนดนโยบายให้กลุ่มคนหลากหลายสามารถใช้ภาษาของชาติตนเอง ในการเรียนการสอนในประเทศ สามารถก่อตั้งโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาของประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ เยาวชนบุตรหลานของชาติพันธุ์ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าเรียนในเฉพาะโรงเรียนของชาติตนเอง แต่สามารถเลือกศึกษาได้ในทุกโรงเรียนโดยไม่มีข้อจำกัด และนี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนในประเทศมาเลเซียสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมหลากวัฒนธรรม
สังคมไทยจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร?
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษา และวัฒนธรรมเอเชีย ให้คำตอบว่า การจัดการสังคมที่มีหลากหลายจะต้องเริ่มที่การปรับทัศนคติของเจ้าบ้าน ต้องมีการยอมรับในความหลากหลายของความแตกต่าง โดยใช้พื้นฐานทางหลักธรรมศาสนา ทั้งเรื่องของความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูล รวมถึงให้โอกาสกับทุกกลุ่มได้แสดงอัตลักษณ์ของตนอย่างเสรี มีความเคารพซึ่งกันและกัน อยู่บนวิถีของคุณธรรมร่วมกัน
สำหรับภาครัฐ ก็ควรจะมีการปรับนโยบายให้สอดคล้องกับวิถีศาสนาวัฒนธรรมของคนทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการยอมรับ รวมทั้งส่งเสริมวิถีการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างโอกาสการศึกษาให้ครอบคลุม เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่จะพัฒนาประเทศ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้สังคมที่มีความหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสันติ ความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะได้
แม้ปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างในสังคมเดียวกันจะมีอยู่ทั่วไป แต่หากมีระบบการจัดการที่มีคุณภาพ การเคารพและยอมรับซึ่งความแตกต่าง มีความไว้ใจและมีความปรารถนาดีต่อกัน สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ประชาชนทุกชาติพันธุ์ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต