เรียนรู้และเข้าใจ โรคมะเร็งปอด
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
โรคมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่สาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งปอดในปัจจุบันมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก เป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วยมากขึ้น
รศ.พญ.ธัญนันท์ ใบสมุทร (เรืองเวทย์วัฒนา) สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด เพราะปัจจุบันมียาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายชนิด ซึ่งผลข้างเคียงน้อยกว่ากลุ่มเก่า และยังมีการพัฒนายารักษามะเร็งกลุ่มใหม่ๆ เช่น การรักษาแบบตรงจุด หรือ แบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการรักษาด้วยยากระตุ้นภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือดขาวในร่างกาย (Immunotherapy) เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยมะเร็งปอดบางรายอีกด้วย
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ามะเร็งปอดยังคงครองสถิติต้นๆ ของโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปี ด้วยจำนวนผู้ป่วยใหม่ 23,713 รายต่อปี หรือ 2.7 คนต่อชั่วโมง ซึ่งการนำเสนอสถิติผู้ป่วยในที่นี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความตระหนกหรือตื่นกลัว แต่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่และอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นนี้ จะเป็นโอกาสในการสร้างการรับรู้ใหม่และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดในยุคปัจจุบัน โดยถือโอกาสในเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจมะเร็งปอด (World Lung Cancer Awareness Month) มาเป็นช่วงเวลาในการ ให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้ใหม่ว่า "มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด"
รู้หรือไม่ มะเร็งปอดมีสองชนิดใหญ่ๆ ด้วยกัน ซึ่ง 85% ของมะเร็งปอดที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งแต่ละปีคือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer) ในขณะที่อีก 15% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดที่พบเป็นชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) ที่มีการเจริญเติบโตเร็วและแพร่กระจายกว่าชนิดเซลล์ไม่เล็ก ในขณะที่วิทยาการและเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยในปัจจุบันก้าวหน้าไปมากกว่าเมื่อสิบปีก่อน ปัจจุบันมีการวินิจฉัยมะเร็งปอดด้วยการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และล่าสุดผ่านการสแกนด้วย PET Scan รวมถึงเทคนิคการส่องกล้องทางหลอดลม และการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ ทำให้การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดในปัจจุบันมีความรวดเร็ว ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่อผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น
อนึ่ง ปัจจุบันยังมีการค้นพบว่ามะเร็งปอดสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ แต่อย่างไรก็ตาม อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้รวมถึงพันธุกรรมและยีนในร่างกายที่เกิดจากการกลายพันธุ์ไปโดยไม่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่อย่างใด โดยมากจะพบในคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ไปแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป รวมทั้ง ความผิดปกติของยีน ได้แก่ การกลายพันธุ์ของยีน EGFR ซึ่งพบได้บ่อยในคนไทย โดยพบประมาณ 50% รวมทั้งความผิดปกติของยีนอีกชนิดหนึ่ง คือ การสลับที่ของยีน ALK พบได้ประมาณ 5-10% และยังมียีนที่ผิดปกติชนิดอื่นๆ อีกสามชนิด คือ มีการสลับที่ของยีน ROS และ NTRK และการกลายพันธุ์ของยีน BRAF แต่ความผิดปกติของยีนในสามชนิดหลังนี้พบน้อยกว่าโดยมีเพียงชนิดละ 4% เท่านั้น