เรียนรู้สุขภาวะที่ดีผ่านหลักสูตรซีรีส์ เท่าทันสื่อ ก้าวทันโลก
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาช่วยกำหนดทิศทางการศึกษาในการให้ความรู้ เสริมสร้างประสบการณ์และการเรียน ทำให้เกิดความคิด เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนารอบด้าน ถือเป็นเบ้าหลอมคนดีและมีคุณภาพ แต่ละสถาบันต่างมุ่งพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสม เท่าทันโลก เพื่อใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
การสร้างหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างคนให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาวะที่ดีมีความสำคัญ นำมาสู่พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้น ณ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาวะ เมื่อวันก่อน ซึ่งทั้งสององค์กรมีวิสัยทัศน์ตรงกันยกระดับหลักสูตร พัฒนาศักยภาพคนทำงาน และหนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกกลุ่มอย่างเป็นระบบ
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพแก่ นิสิต/นักศึกษา บุคลากร และประชาชน ด้วยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนทางด้านวิชาการ อาทิ การสร้างและพัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป หลักสูตรเสริมการศึกษาทั่วไประยะสั้น สนับสนุนหรือร่วมดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน การสร้างขีดความสามารถของบุคลากร สสส.ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างสุขภาพไม่ได้อยู่ในมือของบุคลากรทางแพทย์หรือกระทรวงสาธารณสุข แต่อยู่ในมือของคนไทยทุกคน
รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สถาบันฯ มีเป้าหมายหลักคนเป็นหัวใจสำคัญ ทำให้เกิดสังคมสุขภาวะที่ดี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนของสังคม ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของคน ขยายพื้นที่การเรียนรู้ และส่งเสริมให้เกิดโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะคนสามารถพัฒนาได้ตลอด สถาบันฯ แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขยายฐาน นำมาสู่ความร่วมมือกับจุฬาฯ ซึ่งมีจุดเด่นตั้งใจสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี นำมาสู่ผลผลิตที่สร้างการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเน้นการเรียนรู้ที่เกิดผลสัมฤทธิ์และผลกระทบต่อสังคม ทำให้สังคมดีขึ้นอย่างแท้จริง MOU นี้จะสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์สังคมและนำเทรนด์ สถาบันมีทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว จุดหมายปลายทางทำให้เกิดสังคมสุขภาวะมากขึ้น
ผศ.ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด ทำให้คนในองค์กรต้องปรับบทบาทและเปลี่ยนแปลงการทำงานใหม่ มหาวิทยาลัยเผชิญความท้าทาย เช่น การปรับเปลี่ยนจากการสอนตามหลักสูตร 4 ปี กับนักศึกษาอายุ 22-30 ปี สู่การสอนหลักสูตรระยะสั้นสะสมหน่วยกิตได้ให้กับคนทุกช่วงวัย โดยคนวันทำงานและคนสูงอายุ เรียนได้ตลอดชีวิตในทุกเวลาและสถานที่ เนื้อหาวิชาจะปรับเปลี่ยนให้ตรงและสอดคล้องกับความต้องการผู้เรียน ช่วยให้ทำงานและใช้ชีวิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แทนการสอนที่เน้นทฤษฎีมากไป ศูนย์การศึกษาทั่วไป
การลงนาม MOU ของ 2 องค์กร ระยะเวลาดำเนินงานร่วมกัน 3 ปี ผศ.ดร.สุวิธิดา กล่าวว่า มีแนวทางในการจัดทำกิจกรรมหลักสูตรเสริมการศึกษาทั่วไประยะสั้น ใช้ชื่อว่า CUVIP seris นำร่องหัวข้อ "เท่าทันสื่อ ก้าวทันโลก" เน้นเนื้อหาสาระเรื่องการมีเสรีภาพทางความคิด อ่าน ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับตัวเรา สามารถคิดวิเคราะห์ เลือก ตัดสินใจอย่างใช้วิจารณญาณในฐานะพลเมืองที่อยู่ร่วมกันในสังคม ก่อให้เกิดทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นนัยยะสำคัญในการมีสุขภาวะที่ดี
สำหรับ CUVIP seris มี 12 กิจกรรม แบ่งเป็น 2 เดือน เริ่มเดือน มิ.ย.2565 ประกอบด้วย 1.เปิดสายตาอ่านสื่ออย่างรู้เท่าทัน MIDL 101 2.สูงวัยรู้ทันสื่อ 3.การใช้สื่อดิจิทัล กับการจัดการอารมณ์ 4.เรียนรู้รับมือคุกคามทางเพศออนไลน์ และ 5.พื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนเดือน ก.ค. ประกอบด้วย 1.ทำอย่างไรเมื่อซื้อของออนไลน์ ไม่ตรงปก 2.พลเมืองดิจิทัลกับการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร 3.การนำเสนออัตลักษณ์ผ่านสื่อดิจิทัล 4.การเคารพสิทธิบนโลกออนไลน์ 5.พลิกมุมคิด สะกิดมุมมอง วิพากษ์สื่อด้วยสายตาพลเมือง 6.เอาตัวรอดเมื่อถูกกลั่นแกล้ง ระรานทางไซเบอร์ และ 7.วิพากษ์สื่ออย่างรู้เท่าทัน สร้างสรรค์สังคมของทุกคน
"ในอนาคตจะมีโครงการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของคนและสังคมเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น หลักสูตร E-learning จะร่วมกับสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะพัฒนาหลักสูตรที่มี micro credit และ Learning Outcome ที่ชัดเจน ซึ่งจะเผยแพร่ไว้ในคลังความรู้ดิจิทัล ชื่อว่า CU Neuron เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เลือกเรียนตามความสนใจ ได้ประกาศนียบัตร และเก็บสะสมเครดิตที่สามารถเทียบโอนได้เมื่อเลือกเรียนหลักสูตรของจุฬาฯ" ผศ.ดร.สุวิธิดา กล่าว
ผอ.ศูนย์การศึกษาทั่วไป เน้นย้ำการศึกษาคือเครื่องมือทรงพลังที่สุดที่จะนำมาใช่เปลี่ยนแปลงสังคมและโลกได้ การเริ่มวางแผน ออกแบบ และจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและคุณค่า จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงวุฒิปริญญาเท่านั้น แต่หมายถึงการได้รับการศึกษาและเรียนรู้ทุกด้าน MOU ดังกล่าวจะเป็นแรงผลักขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สำคัญในสังคมไทยและขยายผลการสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
ทั้งนี้ ติดตามหลักสูตรและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ทางเว็บไซต์ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://gened.chula.ac.th และเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ