เรียนรู้ป้องกัน โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ถึงแม้จะไม่รุนแรง แต่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เนื่องจากมีน้ำมูกไหลตลอดเวลา รู้สึกคันจมูกหรือจามบ่อย หากปล่อยอักเสบเรื้อรังไม่รักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคหืด, ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก และหูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น
แพทย์หญิงธันยธร ธีรนรเศรษฐ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้เป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งดูเหมือนเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงแต่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สร้างผลกระทบมากขึ้นทั้งในแง่สาธารณสุขและงบประมาณในการดูแลรักษาทั้งในเด็กและ ผู้ใหญ่ โดยความชุกของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้มีแนวโน้ม สูงขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย แม้โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ จะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ได้มีการศึกษาที่แสดงว่า โรคนี้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ยิ่งกว่านั้นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ยังอาจทำให้เกิดโรคร่วมหรือภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยได้ เช่น โรคหืด, ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก, หูชั้นกลางอักเสบ, ทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ, และภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ
โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้คือภาวะอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของ ร่างกาย เนื่องจากมีการสัมผัสต่อสารก่อภูมิแพ้ในผู้ที่มีความไว ต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ (มีความจำเพาะในแต่ละบุคคล) แล้วทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกันของร่างกาย IgE ชนิดจำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ แล้วก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก ทำให้มีอาการต่างๆ ได้แก่ 1.คัดจมูก 2.น้ำมูกไหล 3.คันจมูก หรือ คันตา 4.จาม
ลักษณะอาการคัดจมูกมักเป็นทั้งสองข้าง หากไม่มีความผิดปกติอื่นทางกายวิภาคร่วมผู้ป่วยมักรู้สึกคัดจมูก ทั้งสองข้างพอๆ กัน น้ำมูกมักเป็นสีใส และอาจมีน้ำมูกไหลลงคอร่วมด้วยในกรณีที่น้ำมูกมีปริมาณมาก อาการคัน นอกจากคันจมูกแล้วอาจพบอาการคันตาร่วมด้วย สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรหญ้า เชื้อรา สุนัข และแมว
การวินิจฉัยจะใช้การซักประวัติตรวจร่างกาย หรือส่งตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (allergy skin tests) หรือ การตรวจ specific IgE (sIgE) ในน้ำเหลือง (Serum sIgE)
การรักษา 1.การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ลดการสัมผัสกับ ไรฝุ่น ให้ดูแลทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องนอนต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือไม่ควรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้ในที่ที่พักผ่อนประจำ และควรอาบน้ำ ให้สัตว์เลี้ยงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หลีกเลี่ยงละอองเกสร หญ้า และเชื้อรา
2.การใช้ยา ปัจจุบันมีการรักษา ตั้งแต่การล้างจมูก การใช้ยา ทั้งยาพ่นจมูก ยาแก้แพ้ ไปจนถึงภูมิคุ้มกันบำบัดด้วยสารก่อภูมิแพ้ (immunotherapy) ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย ส่วนการผ่าตัดจะใช้ในกรณีเพื่อแก้ไขอาการคัดจมูกและน้ำมูกที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล
สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้