เยาวชนD.I.Y. กับภารกิจเฉพาะตัว..เพื่อ’สังคม’

แนวคิดการสร้างสรรค์แบบ d.i.y หรือ do it yourself  ที่มีความหมายทำนองว่าคุณเองก็ทำได้ และทำแบบไม่จำเป็นต้องซ้ำใคร อาจถูกใช้เฉพาะในแวดวงของการตกแต่ง ออกแบบ พร้อมๆ กับที่นึกไปถึงเรื่องราวของการแต่งตัว แฟชั่น ห้องนั่งเล่น ฯลฯ

เยาวชนd.i.y. กับภารกิจเฉพาะตัว..เพื่อ'สังคม'

แต่ถ้าลองดึงเอาแนวคิดการสร้างสรรค์แบบ “เฉพาะตัว” มาประยุกต์กันแบบสนุกๆ ในเรื่องอื่นๆ ด้วย มันก็น่าจะทำให้กิจกรรมที่คุณไม่คิดว่าจะ d.i.y. ได้ กลับดูสดใส มีชีวิตชีวาแบบไม่ซ้ำใครได้เหมือนกัน??

ลองนึกดูไม่เว้นแม้แต่กิจกรรมเยาวชนจำพวก ออกค่าย เดินป่า ลงชุมชน ที่วัยรุ่นบางคน อาจมองว่าช่างเหน็ดเหนื่อย กระทั่งลำบากเกินไปจนไม่อยากสัมผัส…

แต่ในภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นมอบให้ กลุ่มเยาวชนที่เชื่อมั่นในงานที่ทำเหล่านั้นเอง ต่างพยายามสร้างสรรค์แนวทางทำกิจกรรมของตัวเองให้ดูน่าสนุกมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อการยอมรับเช่นเดียวกับการรอโอกาสเปิดรับคนนอกให้เดินเข้ามาค้นหาประสบการณ์ร่วมกัน

เยาวชนd.i.y. กับภารกิจเฉพาะตัว..เพื่อ'สังคม'อนุวัฒน์ พรหมมา หรือ “เตอร์” บัณฑิตหนุ่มด้านการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ยามนี้เลือกเป็นนักกิจกรรมทำค่ายอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตกับมูลนิธิโกมลคีมทอง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แทนการเป็นนายอำเภอตามความฝันเดิม เล่าว่า วันนี้เต็มที่กับการทำกิจกรรมค่ายอาสาแบบเฉพาะตัวที่ไม่ขอเหมือนใคร

ไม่ใช่ค่ายสร้าง ไม่ใช่ค่ายที่ไปสงเคราะห์ หรือให้สิ่งของอะไรกับใคร แต่พยายามมองให้ลึกขึ้น ก้าวให้ไกลกว่านั้น เช่น เรื่องสุขภาพ ต้องไม่คิดแค่เพียงการออกหน่วย หรือ หาสาธารณสุขมาตรวจสุขภาพ แต่ต้องตีชุมชนให้ออก ว่าควรจะเสริมสร้างกระบวนการอย่างไร

อนุวัฒน์บอกด้วยว่า ลักษณะเฉพาะของค่ายอาสาที่อยากจะทำนั้น ต้องคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของนักศึกษาด้านรัฐศาสตร์แบบถิ่นอีสาน ทั้งนี้ เพราะการเรียนรัฐศาสตร์แบบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่ได้เน้นรัฐศาสตร์แบบกระแสหลัก หรือให้ความสำคัญกับแนวคิดการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างทางอำนาจการคลังมากนัก แต่เป็นการสอนเรื่องการเมืองบนความเปลี่ยนแปลง โดยฉายภาพให้เห็นถึงการกดขี่ตั้งแต่อดีตจนถึงแผนการพัฒนาอีสาน หรือแผนพัฒนาต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากร คุณภาพชีวิต ดิน น้ำ เขื่อน เหมือง ที่สร้างความรู้สึกให้กับอีสานจนถึงขณะนี้

“อีสานมีปัญหาเยอะ ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคของรัฐ ขาดสิทธิการจัดการบริหารทรัพยากรของตัวเอง อย่างที่อุดรธานีจะมีประเด็นการทำเหมืองแร่โปแตส ผมเองเคยออกค่ายที่นั่น และทำให้เห็นขอบเขต  ผลกระทบ เช่น เมื่อขุดเหมือง บ้านเราก็เป็นโพรง และควรตั้งคำถามในเมื่อผลกระทบนั้นเกิดขึ้นในชุมชนเรา เราเองควรมีสิทธิในการจัดการนั้นบ้างไม่ใช่หรือ ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันสำคัญ หากจะทำค่าย ก็อยากจะทำค่ายที่มุ่งค้นหาประเด็นเหล่านี้ เพราะเราเติบโตมากับแนวทางแบบนี้” อนุวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

เยาวชนd.i.y. กับภารกิจเฉพาะตัว..เพื่อ'สังคม'ขณะที่หนุ่มใต้อย่าง สิทธิพงศ์ สังข์เศรษฐ์ หรือ “เอียด” ที่ทิ้งคราบของนักพัฒนาชุมชนผู้ดูเคร่งขรึม มาสวมบทนักการละครชุมชนในโครงการ “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” หลังได้ร่วมรับการถ่ายทอดวิชาละครเร่กับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ได้อธิบายหลักสำคัญความเฉพาะตัวของกิจกรรมที่ทำว่า นอกจากประเด็นข้อมูลที่ครบถ้วน เฉียบคมแล้ว เรื่องราวที่จะสื่อสารไปให้ชาวบ้านต้องสนุก โดยผสมผสานกันในนามกลุ่ม “มะนาวหวาน” ที่มีเพื่อนจากทั้งมหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยครึ่งหนึ่งเป็นเด็กเรียนพัฒนาชุมชน อีกครึ่งเรียนด้านศิลปะการแสดงมา เป็นการรวมระหว่างศิลปะกับการพัฒนาชุมชน เปรียบเป็นคนที่ภายนอกสนุกสนานแต่แฝงด้วยสาระ เป็นความเปรี้ยวที่ซ่อนความหวานไว้

ครั้นถามถึงประกายไฟที่ถูกจุดแห่งการทำกิจกรรม เขาอธิบายว่า คือผลพวงมาจากจากการติดตามข่าวสารเป็นประจำ และรู้ว่าขณะนี้ภาคใต้คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อยู่ในช่วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการต่อสู้ระหว่างแนวทางการอนุรักษ์กับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไหนจะแผนพัฒนาภาคใต้ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การสร้างท่าเรือน้ำลึก กระทั่งรถไฟรางคู่ที่เตรียมจะมาต่อจากนี้

“ผมไม่มีปัญหากับการพัฒนา เพียงแต่จะร่วมบอกกับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นเจ้าของชุมชนแห่งนี้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้างในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ เพื่อให้ชาวบ้านเหล่านั้นมาร่วมกำหนดชีวิตของตัวเอง” เอียดประกาศความตั้งใจที่ชัดเจนไม่เหมือนใคร

และบนความเฉพาะตัวที่ไม่ขอเหมือนใครตามประสาวัยรุ่นนี้ สิ่งที่ดูจะคล้ายกันบ้าง…

เห็นจะเป็นความห่วงใยสังคมแบบมีชีวิตชีวา ตามลักษณะเฉพาะตัวนั่นเอง!!

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code