เยาวชนไทยน่าห่วงเพราะ ‘สูบบุหรี่’
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ชี้เยาวชนไทยน่าห่วงสูบบุหรี่ กว่า3แสนคน สูบครั้งแรก15-17ปี
น.ส.ศรัณญา เบญจกุล นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 15 จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนุบสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติซึ่งตรงกับ 20 กันยายน ของทุกปี ปัจจุบันสถานการณ์สูบบุหรี่ของเยาวชนที่มีอายุ 15-18 ปีในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ โดยผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 และ 2558 ระบุว่า มีเยาวชนสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 8.4 (337,679 คน) ในปี 2556 เหลือร้อยละ 7.9 (312,610 คน) ในปี 2558 โดย 5 ใน 10 ของนักสูบหน้าใหม่เริ่มต้นสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 15-17 ปี โดยเยาวชนในกลุ่มนี้ คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ นิยมสูบบุหรี่ซองที่วางจำหน่ายตามร้านค้า เพราะเข้าถึงง่าย
ทั้งนี้ปัจจัยหลักในการป้องกันเยาวชนจากการเป็นนักสูบหน้าใหม่ต้องอาศัยกฎหมายใหม่คือ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ที่แก้ไขเพิ่มเติม มีการเพิ่มมาตรการป้องกันการเข้าถึงยาสูบของเยาวชน ต้องมีการทำงานในทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องใน "แบบจำลองเชิงนิเวศวิทยา (Ecological Model) อย่างครบวงจร ประกอบด้วย 1.เยาวชน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่วงในสุด โดยต้องเสริมด้านความรู้และกิจกรรม เพื่อให้รู้ทันโทษพิษภัยบุหรี่ และกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่รวมถึงสร้างเสริมให้มีทักษะชีวิตในการปฏิเสธบุหรี่ 2.ระหว่างบุคคล คือกลุ่มบุคคลเครือญาติที่แวดล้อมเยาวชนในบ้าน บ้านที่หัวหน้าครอบครัวไม่สูบบุหรี่มีโอกาสที่เยาวชนสามารถเลิกสูบได้สำเร็จ สูงถึง 19 เท่า
รวมทั้งกลุ่มครูในโรงเรียนควรทำตัวเป็นแบบอย่างไม่สูบบุหรี่ 3.องค์กร ได้แก่ บ้าน โรงเรียน วัด สถาบันกวดวิชา ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสร้างสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่ 4.ชุมชนมีเครือข่ายเฝ้าระวังไม่ให้เยาวชนสูบบุหรี่ ร้านค้าในชุมชนต้องไม่จำหน่ายบุหรี่ให้เด็กวัยต่ำกว่า 18 ปี และ 5.รัฐบาลหรือองค์กรของรัฐบังคับใช้กฎหมาย ภาคส่วนต่างๆ สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ กฎกติกาภายในส่วนงาน หรือชุมชนเพื่อให้สอดคล้องและหนุนเสริมนโยบายระดับประเทศ