เยาวชนเตรียมรับมือเหล้าบุหรี่ช่วง AEC
มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดโครงการคาราวานเสริมสร้างสุขภาวะองค์รวมเชียงใหม่สู่ประชาคมอาเซียน “เปิดการค้าเสรีอาเซียนปิดธุรกิจเสี่ยงอบายมุข หยุดนำเข้าเหล้า-บุหรี่ ” เพื่อรณรงค์การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสร้างสุขภาวะองค์รวมของเชียงใหม่ พร้อมทั้งรักษาความเป็นล้านนาไทย
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอาคมกาญจนประโชติ ชั้น4 อาคารอำนวยยศสุข ศูนย์กิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการคาราวานเสริมสร้างสุขภาวะองค์รวมเชียงใหม่สู่ประชาคมอาเซียน “เปิดการค้าเสรีอาเซียนปิดธุรกิจเสี่ยงอบายมุข หยุดนำเข้าเหล้า-บุหรี่ ” เพื่อรณรงค์ขับเคลื่อนเชิงนโยบายสาธารณะเมื่อมีการเปิดการค้าเสรีอาเซียนจะต้องปราศจากอบายมุขเข้าสู่ในประเทศทุกรูปแบบ
โดยมีพลังจากนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่เป็นแกนนำในการรณรงค์และสื่อสารทางสังคม โดยการประชุมดังกล่าวได้รับเกียตริจากท่านอาจารย์กฤษดา ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานการเปิดงานพร้อมทั้งในการประชุมดังกล่าวได้มีผู้แทนจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การขับเคลื่อนของเครือข่ายองค์กรนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ หรือ SUNC (ซันซี)
ซึ่งจากข้อมูลรายการภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พบว่า คนไทยเสียชีวิตจาการดื่มสุราประมาณปีละ 26,000 คน และนอกจากนี้ยังพบนักดื่มหน้าใหม่ปีละ 250,000 คน กลุ่มเยาวชนนักดื่มน่าหน้าใหม่เหล่านี้จะเป็นลูกค้าของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาว มีโอกาสติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 70 และเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ อุบัติเหตุ พิการ ท้องไม่พร้อม โรคติดเชื้อทางเพสสัมพันธ์ ซึ่งที่ผ่านพบว่าเยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 500,000 แห่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถเดินทางไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 4 นาที พร้อมกันนี้เมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าไปมาระหว่างภูมิภาคมากขึ้น อาจจะมีการลักลับการขนสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เข้ามาในประเทศไทยผ่านทางชายแดนไทยมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเยาวชนและคนไทยจะสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในราคาที่ถูกลง
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวจึงมีการบรรยายการสร้างผู้นำกับภาระกิจนักรณรงค์ การเตรียมความพร้อม การสร้างสุขภาวะองค์รวมสู่อาเซียนกับบริบทสังคมเมืองจังหวัดเชียงใหม่ และการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และได้มีการวางแผนการดำเนินการร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาทั้ง 10 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ผู้แทนจากสถาบันนานาชาติ IOGT – NTO Movement ร่วมในการพัฒนาแผนงาน
ทั้งนี้นายวิษณุพงษ์ ตระการศุภกร รองประธานเครือข่ายองค์การนักศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายฯ ได้มีการผนึกกำลังในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแก่นักศึกษาในแต่ละแห่ง เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน และให้ความรู้เกี่ยวกับโทษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดเพื่อให้ความรู้และเตรียมตัวก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งในอนาคตจะมีการจัดกิจกรรม Road Show เพื่อรณรงค์ในสถาบันการศึกษาทั้ง 10 แห่งอีกด้วย
พร้อมกันนี้นายกรกช ไชยวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การเตรียมความพร้อมส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นในมิติเชิงบริบทแต่ละประเทศการพัฒนาทักษะภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และการเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งเป็นสินค้าที่อันตรายต่อสุขภาพและเปิดสินค้าที่น่ากังวลเนื่องจากเยาวชนนักดื่มหน้าใหม่อาจจะมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้นและการเข้าถึงสินค้าที่ถูกลงอีกด้วย ซึ่งประเด็นนี้อาจจะต้องอาศัยการทำงานหลายระดับทั้งกลุ่มนโยบาย สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย
ที่มา: โครงการป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดในกลุ่มนักศึกษาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่