เยาวชนสูบบุหรี่เพิ่ม ‘พริตตี้’ เป็นหนึ่งในขบวนการ
วันงดสูบบุหรี่โลก (31 พฤษภาคม) ผ่านไปแล้ว เป็นที่น่ายินดีที่องค์การอนามัยโลกได้มองเห็นความสำคัญถึงภัยอันตรายจากการสูบบุหรี่ของประชากร จึงได้ร่วมมือกับมวลสมาชิกทั่วโลกช่วยกันรณรงค์ไม่ให้มีการสูบหรี่เพิ่มขึ้น
ประเทศไทยของเรามี มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นตัวตั้งตัวตี ในการรณรงค์มาอย่างจริงจัง แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเยาวชนไทยของเราช่างไม่เกรงกลัวต่อพิษภัยอันตรายจากควันบุหรี่กันเลย เพราะเท่าที่ดูตามสถิติการสูบบุหรี่ที่ผ่านมาพบว่า เยาวชนไทยมีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น
คำยืนยันได้มาจาก นพ.ชัย กฤติยาภิชาติกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก พ.ศ.2554 ในประเด็นการรณรงค์ “พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่” องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เร่งดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกแต่สถานการณ์ล่าสุดสำรวจเมื่อ พ.ศ.2552 พบว่า มีตัวเลขที่น่าเป็นห่วง คือ จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มลดลงมาก่อนหน้านี้กลับเพิ่มขึ้นระหว่างพ.ศ.2549-2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน
อยากรู้ว่าปริมาณการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะอะไรต้องมาฟังเลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่เขาบอกเอาไว้ให้ทราบดังต่อไปนี้
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่การสูบบุหรี่ของคนไทยไม่ลดลงเพราะบริษัทบุหรี่ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาผู้สูบบุหรี่ไว้และเพิ่มจำนวนผู้ติดบุหรี่ใหม่ โดยปัจจุบันบริษัทบุหรี่ทั้งโรงงานยาสูบและบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ได้มีการกระทำที่เข้าข่ายโฆษณาและส่งเสริมการขายทั้งทางตรงและทางอ้อม และกิจกรรมที่อ้างว่าทำเพื่อสังคม เช่น การสนับสนุนเงินทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับโรงเรียน สมาคมและมูลนิธิต่างๆ องค์กรท้องถิ่น ชุมชน หน่วยงานราชการ การบริจาคสิ่งของให้แก่หน่วยงานต่างๆ
ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวแล้วบริษัทบุหรี่ทำด้วยเหตุผลเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ขององค์กรที่เสียหายจากการขายสินค้าเสพติดที่ทำลายสุขภาพ สร้างความสัมพันธ์กับผู้กำหนดนโยบายเพื่อยับยั้งมาตรการควบคุมยาสูบ ลดความกระตือรือร้นควบคุมยาสูบเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสื่อ ทำให้สื่อไม่กระตือรือร้นในการสนับสนุนการควบคุมยาสูบเพื่อลดทอนกระแสการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ของสังคม ปิดปากบุคคล-องค์กร ที่รับการสนับสนุนการบริจาคเบี่ยงเบนความสนใจของสังคม และผู้กำหนดนโยบายจากธุรกิจหลักของบริษัทและสร้างการยอมรับการสูบบุหรี่ (Mental framing about smoking)
และอีกหนึ่งท่าน ผศ.ดร.กิตติ กันภัย นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติและโรงงานยาสูบไทยได้ละเมิดกฎหมายควบคุมยาสูบโลกหรือ FCTC มาตรา 13 อย่างแน่นอน ซึ่งมาตราดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า “การโฆษณาและการส่งเสริมการขายยาสูบ” คือ รูปแบบใดก็ตามของการสื่อสาร การแนะนำหรือการกระทำเชิงพาณิชย์ โดยมีจุดมุ่งหมาย ผล หรือผลที่น่าจะเกิดขึ้น เป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือการใช้ยาสูบ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม รวมถึง “การเป็นสปอนเซอร์ของยาสูบ” คือ “รูปแบบใดก็ตามของการอุดหนุนแก่เหตุการณ์พิเศษ กิจกรรม หรือบุคคลใดๆ”
การกระทำแบบนี้ของบริษัทบุหรี่เท่ากับเป็นการท้าทายกฎหมาย สวนกระแสโลกและสังคมที่ต้องการควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่น การออกแบบบูธตามงานเทศกาลต่างๆ การใช้พริตตี้ตามผับบาร์ การจัดทัวร์ดนตรีการทำแบบนี้ไร้คุณธรรมและไม่ยุติธรรมต่อสังคมเพราะบริษัทบุหรี่ต้องการรักษาการรับรู้และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดกับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดบริษัทบุหรี่ต้องการรักษายอดขายและเป้าหมายในการทำกำไรตนในฐานะนักวิชาการได้ศึกษาและติดตามปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอดจึงอยากเรียกร้องให้บริษัทบุหรี่หยุดการกระทำเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงและโดยทันที และขอให้หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ โรงเรียน สมาคม มูลนิธิต่างๆ รู้ให้ทันบริษัทบุหรี่และยุติการรับเงินจากบริษัทบุหรี่
เมื่อพูดถึง พริตตี้ ปัจจัยที่ทำให้คนหันมาสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นลองมาฟัง แนวคิดของ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำเสนอประเด็นพริตตี้ : ทูตส่งเสริมการขายของพ่อค้ายาสูบ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องออกกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 13 (FCTC) เพราะกลยุทธ์การใช้พริตตี้คือรูปแบบหนึ่งของการโฆษณา ส่งเสริมการขาย และรัฐต้องเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้สังคมรู้ว่ากลยุทธ์พริตตี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดส่งเสริมการขายบุหรี่ การสร้างภาพลักษณ์ แบรนด์บุหรี่ อีกทั้งยังได้เสนอให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรม “พริตตี้รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่”
ยังมีอีกหลายท่านที่มีเหตุผลที่จะกล่าวถึงแนวโน้มของการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ทุกคนล้วนเป็นห่วงสุขภาพของคนที่สูบบุหรี่ทั้งนั้น…แล้วคุณล่ะ?! ไม่ห่วงตัวเองและครอบครัวบ้างหรือ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี