เยาวชนสายพันธุ์ใหม่หัวใจอาสา “Gen A”
หนุนเยาวชนสายพันธุ์ใหม่ร่วมทำดี มีจิตสาธารณะ ภายใต้แนวคิด Gen A (Generative Active) ) รวมพลคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา เปลี่ยนคน Generation Me ให้กลายเป็นคนไทยพันธุ์ใหม่ที่มี “จิตสาธารณะ”
ท่ามกลางปัญหาสังคมที่รุมเร้าประเทศไทยขณะนี้ คงไม่มีความพยายามอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าพลังสามัคคีของคนในชาติ และหัวใจแห่งการให้ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำให้พลังจิตอาสาเปลี่ยนแปลงประเทศจึงกลายมาเป็นโจทย์หลักในการเฟ้นหาโครงการจิตอาสาต้นแบบและปลุกพลังเยาวชนคิดบวกเพื่อสร้างพลเมืองสายพันธุ์ใหม่กับโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย 2557 ปี 3 ภายใต้แนวคิด Gen A (Generative Active) รวมพลคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา เปลี่ยนคน Generation Me ให้กลายเป็นคนไทยพันธุ์ใหม่ที่มี “จิตสาธารณะ” เต็มเปี่ยม
"รศ.ดร. วิลาสินี อดุลยานนท์" ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. เปิดเผยถึงที่มาของโครงการนี้ว่ากิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ โดยมีองค์กรพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนกว่า 15 องค์กร อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิธรรมดี มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย และบริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และมีเยาวชนเข้าร่วมสร้างสรรค์โครงการมากกว่า 5,000 คน ซึ่งมีโครงการที่หลากหลายทั้งการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ การร่วมสร้างชุมชนด้วยแนวเศรษฐกิจพอเพียงการพัฒนาผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่
"ทั้งนี้ สสส. เชื่อว่าการเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้เด็ก และเยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนจากประสบการณ์จริงนั้น เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดจิตสำนึกใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นสังคม Active Citizen"
ด้าน "ดนัย จันทร์เจ้าฉาย" ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า เยาวชนคน Gen A ที่ทางโครงการต้องการสร้างขึ้น หมายถึง เด็กรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอาสา ใฝ่เรียนรู้ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง และกล้าคิดกล้าลงมือทำเพื่อประโยชน์ของสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีสติเป็นที่ตั้ง เพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม และลดอัตตาในใจที่คน Gen Me จะสร้างขึ้นมาเป็นเกราะหุ้มตนเองจนมองข้ามความสำคัญของสิ่งอื่นในสังคมไป
ทั้งนี้มีตัวแทนเยาวชนจากหลากหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้มาร่วมแสดงพลังเยาวชนสายพันธุ์ใหม่ พร้อมกับนำเสนอ 33 โครงการจิตอาสาเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “โครงการนิทานสานฝัน สู่ชายแดนใต้ ของกลุ่มลูกเหรียง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา” ที่มุ่งเน้นการเล่านิทานเยียวยา ฟื้นฟูจิตใจเด็กๆ ที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ จากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสื่อให้ผู้ประสบชะตากรรมเดียวกัน เปลี่ยนความเคียดแค้นเป็นพลังแห่งการให้อภัย
อีกทั้งยังมี "โครงการ Taxi New Gen ของกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์" จัดตั้งศูนย์แท็กซี่สายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ให้บริการด้วยรอยยิ้มและหัวใจอาสา เป็นมิตรต่อผู้โดยสารและเอื้อเฟื้อต่อคนพิการ ยกระดับความปลอดภัยและความสะดวกแก่ผู้โดยสาร
"โครงการ Melody Of Heart จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ" อาสาลงพื้นที่ช่วยเหลือเด็กพิการ เด็กพิการซ้ำซ้อน และผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยการใช้ดนตรีบำบัด พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายเยาวชนที่เล่นดนตรีขยายกลุ่มเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
"โครงการยุวทูตคีตศิลป์ไทยใจอาสา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์" ซึ่งเน้นในเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ด้วยการสอนรุ่นน้อง และเผยแพร่ไปยังโรงเรียนใกล้เคียง เกิดกลุ่มเยาวชนไทยที่รักและพร้อมจะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป
ถึงตรงนี้ "รศ.ดร.วิลาสินี" บอกว่า สำหรับโครงการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นแบบโครงการจิตอาสาที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกเท่านั้น และในตอนนี้ ทั้ง 33 ทีมก็กำลังอยู่ระหว่างการลงพื้นที่จริงเพื่อปฏิบัติภารกิจของตนเองให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ ก่อนจะนำผลที่ได้มานำเสนอต่อคณะกรรมการในรอบชิงชนะเลิศที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษารวมกว่า 200,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยในเวทีนานาชาติต่อไป
ที่มา: เว็บไซต์ประชาชาติ